xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตรวจขายเหล้า 6 วันปีใหม่ ทำผิด 96 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรุปผลควบคุมการขายเหล้า 6 วันช่วงปีใหม่ พบผู้กระทำผิด 96 ราย ผิดฐานโฆษณามากสุด ชี้ มีการแบ่งเหล้าใส่ขวดเครื่องดื่มชูกำลังขายเป็นกั๊กๆ ริมทางหลวง “หมอสมาน” เผย มีการทำผิดซ้ำซาก ลั่นประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจแก้ปัญหาไม่ได้ผล ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการดำเนินการควบคุมการกระทำผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่า ในรอบ 6 วันตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2555 - วันที่ 1 ม.ค.2556 ได้ตรวจผู้ประกอบการใน 4 ภาค รวม 594 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดีทันทีรวม 96 ราย โดยความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด และส่งเสริมการขาย เช่น ลดแลกแจกแถม ชิงโชค เป็นต้น รวม 65 ราย รองลงมาคือ ขายในพื้นที่ห้ามขาย คือ สถานที่ราชการ สถานีน้ำมันเชื้อเพลิง และสวนสาธารณะ 12 ราย ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 5 ราย ขายในเวลาห้ามขาย 2 ราย และขายโดยไม่มีใบอนุญาต 10 ราย และขายบนทางหลวง 2 ราย เฉพาะวันที่ 1 ม.ค.2556 ตรวจทั้งสิ้น 97 ราย ดำเนินคดี 2 ราย

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การตรวจจับในเทศกาลปีใหม่นี้ มีการกระทำผิดโดยแบ่งเหล้าขาย โดยใส่ในขวดของเครื่องดื่มชูกำลัง ขายเป็นกั๊กๆ บนริมทางหลวง และให้เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเป็นผู้ขาย ซึ่งมีความผิดเช่นกัน และเป็นเรื่องที่ไม่ควรปฏิบัติ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเด็กอาจเข้าใจผิดว่า เหล้าเป็นเครื่องดื่มธรรมดาทั่วไป

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการออกตรวจของเจ้าหน้าที่ยังพบว่า มีการกระทำผิดซ้ำซาก โดยที่ จ.เพชรบูรณ์ ในช่วงเช้าทีมที่ออกกตรวจในสายภาคอีสาน ได้ตรวจปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั๊ม และได้ดำเนินคดีไปแล้ว ต่อมาช่วงบ่ายทีมที่ออกตรวจภาคเหนือ ได้ตรวจซ้ำในปั๊มเดียวกันก็ยังพบการขายเช่นเดิม จึงได้ดำเนินคดีอีกครั้ง ซึ่งทางผู้ประกอบการรับว่าจะไม่ทำผิดอีกแล้ว เพราะทราบแล้วว่าทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถดำเนินการด้วยการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ หรือการควบคุมไม่สามารถทำได้เพียงการร้องขออ้อนวอนเพียงอย่างเดียว ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้อย่างจริงจังควบคู่กันไปด้วย เพราะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ ดังนั้น ทางผู้ประกอบการเขาก็เฝ้าสังเกตและชั่งน้ำหนักว่าเจ้าหน้าที่จะเอาจริงแค่ไหน หรือคุ้มไหมที่จะกระทำผิดแล้วถูกดำเนินคดีแลกกับผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ” นพ.สมาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น