xs
xsm
sm
md
lg

จากใบลานสู่เว็บไซต์ บันทึกภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่จะไม่สูญหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

การมีตัวอักษรใช้คือจุดเริ่มต้นของการบันทึกประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เพราะเป็นการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมต่างๆ ที่มีจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

สำหรับประวัติศาสตร์ไทยจะเห็นการจารึกภูมิปัญญาจำนวนมาก ทั้งตำรับยา ตำราการรักษาโรค อยู่ในใบข่อย ใบลาน แต่ปัจจุบันได้เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากที่ถูกเผาทำลายไปมาก และอักษรที่จารึกล้วนแต่เป็นภาษาโบราณที่มีผู้อ่านออกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายกฤษฏา แสงแก้ว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาแก้ว จ.ลำปาง กล่าวในการประชุมเรื่อง "คุณค่าและประโยชน์ของการเก็บบันทึกข้อมูลภูมิปัญญา" ซึ่งจัดโดยเครือข่ายแผนงานเสริมสร้างสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ในเทศบาลตำบลนาแก้ว จ.ลำปาง มีตำราบันทึกต่างๆมาก แต่ปัญหาคือตำรายาส่วนใหญ่จารึกเป็นภาษาล้านนา ซึ่งปัจจุบันคนทั่วไปอ่านไม่ออก ตรงนี้หากหมอพื้นบ้าน ผู้ซึ่งมีความรู้ในเรื่องยามาก และอ่านภาษาล้านนาออกเสียชีวิต ก็จะทำให้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่โบราณหายไป

เราได้ผลักดันให้มีการรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญา เพราะมันมีคุณค่าต่อคนในพื้นที่และประเทศชาติอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งเสริมให้มีการเรียนภาษาพื้นเมืองมากขึ้น เพื่อให้รู้ภาษาและช่วยส่งถ่ายข้อมูลภูมิปัญญาได้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

อีกพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญา โดยเฉพาะความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้าน นั่นคือ จ.อุดรธานี ซึ่ง ภก.สมชาย ชินวานิชย์เจริญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุดรธานี เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดอุดรธานี เพื่อเก็บข้อมูลหมอพื้นบ้านในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2549 จำนวน 4 อำเภอ 9 ตำบล โดยอาศัยการลงพื้นที่และการพูดคุย ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญหลายประการ

จากการสอบถามทำให้เรารู้ประวัติหมอพื้นบ้าน และความถนัดในการรักษา ส่วนวิธีการดูแลรักษานั้นเราทำเอกสารไกด์ไลน์ให้หมอพื้นบ้านได้บันทึก เช่น อาการของโรค กระบวนการในการดูแลรักษา ผลของการรักษา เป็นต้น ซึ่งบันทึกนี้เราจะนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อรวบรวมเป็นรูปเล่มแล้วส่งกลับไปยังหมอพื้นบ้านทุกคน ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่หลากหลายและขยายไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคดิจิตอลการบันทึกข้อมูลไม่ได้ถูกจำกัดรูปแบบอยู่เพียงการบันทึกเป็นตัวอักษรในใบข่อย ใบลาน หรือในกระดาษอย่างที่ผ่านๆ มาแล้ว แต่เราสามารถนำข้อมูลภูมิปัญญาที่ล้ำค่ำ ทั้งตำรับยารักษาโรค ตำรายาสมุนไพร ประวัติหมอพื้นบ้าน และวิธีการดูแลรักษาโรคต่างๆของหมอพื้นบ้านไปเก็บเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้ยาวนานมั่นคงมากกว่า เนื่องจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สามารถคัดลอก ทำซ้ำ และเผยแพร่ไปได้ในโลกอินเทอร์เน็ต

สำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีการบันทึกภูมิปัญญาอันเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าของประเทศให้เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แล้วเช่นกัน ซึ่ง ผศ.ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา ประธานโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าว่า โครงการฯที่เราดำเนินการอยู่นั้นจะเน้นเรื่องการแปลเอกสารโบราณเป็นหลัก เพราะในเอกสารโบราณต่างๆเหล่านั้นจะมีข้อมูลความรู้ในเรื่องของยา ซึ่งเอกสารยาโบราณนี้ถือว่ามีคุณค่ามาก เพราะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้นในการศึกษาค้นคว้าด้านการแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร และภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพ

ที่สำคัญเอกสารยาโบราณเหล่านี้ เป็นหลักฐานอ้างอิงถึงข้อมูลการรักษาที่มีอยู่จริงในพื้นบ้าน เป็นเครื่องมือบันทึกและถ่ายทอดความรู้ต่อไปของผู้คนในสังคม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนในสังคมและประเทศชาติ

ผศ.ดร.ราชันย์เล่าอีกว่า เอกสารตำรับยาส่วนใหญ่จะพบได้ที่วัด ทางโครงการฯจึงมีการสำรวจ รวบรวมจัดทำบัญชี แบ่งหมวดหมู่ ทำทะเบียนติดเอกสารว่ามีกี่ฉบับ อยู่ที่ไหนบ้าง แล้วนำทั้งหมดมาลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของ GIS คือ ระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถเข้ามาสืบค้นได้ นอกจากนี้ เราจะมีการคัดเลือกจากตำรายาด้วยว่า มีตัวยาอะไรที่สามารถนำมาใช้ได้จริง โดยผ่านการวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

การนำข้อมูลภูมิปัญญาที่คนทั่วไปเข้าถึงยากมาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ จะช่วยให้ข้อมูลภูมิปัญญาได้รับการเผยแพร่และคัดลอกส่งต่อไปได้ไกล เพียงแต่ต้องเริ่มที่จะเปลี่ยนการบันทึกภูมิปัญญาจากเอกสารที่สูญสลายได้ ให้กลายเป็นเอกสารที่มีสูญสลายยากอย่างข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ ก็จะช่วยให้ภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่เรามีไม่สูญหายไป
กำลังโหลดความคิดเห็น