โดย...สานนท์ เจริญพันธุ์
เทคโนโลยีเพื่อการติดต่อสื่อสารที่รุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งาน แม้เดินทางไปที่ใดไม่มีโน๊ตบุคส์ติดมือ เพียงแค่มีสมารท์โฟน หรือแท็บเล็ตสักเครื่องก็ช่วยให้ชีวิตการทำงาน การสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้นผ่านใช้งานด้วยวิธีการ “แชท” ผ่านแอปพลิเคชัน อาทิ ไลน์ วอทซ์แอป หรือบีบี เท่านี้ก็รู้เรื่องโดยไม่ต้องยกหูส่งเสียงเช่นที่ผ่านมา
ที่สำคัญปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าเหล่านี้ยังส่งผลต่อกลุ่มวัยรุ่นยุคศตวรรษที่ 21 ที่เกิดมาในยุคของความรุ่งเรืองของเทคโนโลยีต่างไปจากยุคก่อนๆ ที่สิ่งเหล่านี้เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตแบบก้ำกึ่ง ดังนั้น ทุกวันนี้หันไปทางใดก็จะเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นทุกคนล้วนมีสมาร์ทโฟนคู่ใจราคาสูงลิ่วที่บรรดาพ่อแม่ยอมควักเงินซื้อให้ถือติดมือทั้งนั้น บางรายมีถึง 2 เครื่องแม้จะคนละยี่ห้อก็ตาม และด้วยคุณสมบัติชั้นเลิศตามที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้เด็กวัยรุ่นพกพาไปทุกที่ แชททุกเวลาไม่เว้นแม้แต่ในห้องเรียน
“นั่งหลังห้อง แอบเล่นใต้โต๊ะ บ้างก็แชทคุยกับแฟน ร้ายไปกว่านั้นก็จะขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำบ้าง แกล้งป่วยบ้าง แล้วไปนั่งเล่น เปิดเครื่องแชทกันทั้งวัน” คำบอกเล่าบางส่วนจาก นายอนุสรณ์ กะดามัน ครูผู้สอนภาษาไทย โรงเรียนวัดบวรนิเวศ
ครูอนุสรณ์ บอกด้วยว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อการให้เด็กนำไปใช้เพื่อการค้นคว้าหาความรู้ได้ง่ายขึ้น แต่ปรากฎว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะใช้ประโยชน์ในสิ่งนี้ ส่วนมากเด็กนำมาใช้เพื่อเล่นเกมฟังเพลงในชั้นเรียน ซึ่งประสบการณ์ตรงในฐานะครูผู้สอนนั้น ตนเห็นได้ชัดว่านักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่ตั้งใจเรียน บางรายติดแชทตลอดเวลาที่เรียน ไม่สนใจในการเรียนขาดสมาธิ พอสอบถามเรื่องที่เรียนก็ตอบไม่ได้ เพราะเอาสมาธิที่มีไปสนใจกับการแชท พอถึงเวลาสอบก็ทำไม่ได้ก็ปรากฎว่าการเรียนตกไปกว่าที่เคย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าเหตุใดผลการเรียนลูกตกก็ไม่ได้คิดว่าเพราะลูกไม่ตั้งใจ แต่เชื่อที่ลูกบอกว่าที่ผลการเรียนตกลงต้นเหตุเพราะครูสอนไม่เข้าใจ
สิ่งที่ตนเป็นห่วงที่สุด คือ การที่ผู้ปกครองซื้อสมาร์ทโฟนราคาสูงให้เด็กใช้เป็นการสร้างค่านิยมผิด สร้างความฟุ้งเฟ้อใช้ของเกินตัวซึ่งยังไม่เหมาะสมกับวัย แล้วเมื่อมีของก็นำมาอวดกันในหมู่เพื่อน
ในมุมกลับกัน ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เลยเวลาที่จะมาตั้งคำถามแล้วว่าเด็กควรใช้หรือไม่ใช้สมาร์ทโฟน เพราะยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยี อีกทั้งเวลานี้ประเทศไทยได้สนับสนุนและกระตุ้นให้เด็กใช้เทคโนโลยี เช่น เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ก็ใช้แท็บเล็ตในการเรียนแล้ว เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นสำหรับเด็กทุกวัย
“แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นต้องมีแน่นอน คือเราพัฒนาให้เด็กไทยรู้จักเทคโนโลยี เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย หมายถึงหาซื้อได้ง่ายและกลายเป็นกระแสแห่งความถูกต้องชอบธรรมที่เด็กจะใช้เทคโนโลยี แต่ข้อเสียก็คือเราไม่ได้พัฒนามิติของวุฒิภาวะของเด็กเลย เรื่องของสำนึกความรับผิดชอบ เด็กไทยยังต่ำมากแล้วก็ถูกละเลยจากครอบครัว จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นโรงเรียน หรือหน่วยงานที่พัฒนาเยาวชน ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนหรือแผนการที่ชัดเจน ในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบในตนเอง การยับยั้งชั่งใจ การใช้สติพิจารณาตนเอง เด็กไทยถือว่าต่ำมาก เพราะฉะนั้นพอเราไปกระตุ้นการใช้เทคโนโลยี สร้างความชอบธรรม แต่ในขณะที่วุฒิภาวะของเด็กน้อย ผลเสียมันก็จะตามมาคือเด็กจะใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การแชท เล่นเกม ในห้องเรียน”
อ.ปนัดดา บอกด้วยว่า กรณีที่เด็กเล่นโทรศัพท์หรือติดเทคโนโลยีจนขาดสมาธิและความตั้งใจในการเรียน นั้นเพราะเด็กเหล่านี้ขาดวุฒิภาวะ แต่คนที่จะใช้เทคโนโลยีได้ต้องมีวุฒิภาวะ เช่นคุณจะอ่านหนังสือคุณต้องปิดโทรศัพท์ แต่เด็กเหล่านี้ไม่ได้ถูกสอนเรื่องวุฒิภาวะมา คุณต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัยต่อตนเอง เด็กไทยไม่ได้ถูกฝึกในส่วนนี้ พ่อแม่ โรงเรียน หรือทักษะทางสังคมไม่ได้ช่วยสร้างปัจจัยในการฝึกฝนให้เด็กรู้จักแยกแยะ แบ่งเวลาที่เหมาะสม ทำให้เวลาเรียนแทนจะสนใจตั้งใจเรียน ก็อาจจะเบนความสนใจไปที่การแชทพูดคุยกับเพื่อนมากกว่า
“ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องโทรศัพท์อย่างเดียว แต่สังคมไทยในยุคนี้เป็นยุคของทุนนิยม รวมถึงการถูกกระตุ้นจากระบบทางการตลาด ซึ่งในบางประเด็นรัฐก็เป็นผู้ส่งเสริมทำให้ความต้องการในเรื่องของเทคโนโลยีมีมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ขาดความห้ามใจก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของการตลาดได้ง่าย และการที่รัฐไปมุ่งเน้นไปในเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ก็อาจทำให้หลงลืมบทบาทในการพัฒนาสังคมและเยาวชน”อ.ปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย