คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแต่ละคน แต่ละสังคม ไม่ว่าใกล้ หรือไกล จะมีปัญหาแตกต่างกันไป มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ทีมงานโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดโอกาสคนชายขอบสะท้อนปัญหาผ่านเวทีเสวนา “ละคร กายกรรม: เครื่องมือมหัศจรรย์ในการเปลี่ยนแปลงเยาวชนชายขอบ” ภายในงานมหกรรมกายกรรมนานาชาติ จ.เชียงใหม่
เริ่มจาก ฤทธิพันธุ์ วิจิตรพร หรือ เป้ย เยาวชน จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งสูญเสียชีวิตการเรียนไปด้วยเวลาเที่ยวเล่น ทะเลาะวิวาท ประชดพ่อแม่ กระทั่ง2ปีก่อนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทำละคร ระหว่างนั้นได้มองการใช้ชีวิตในอดีต พอนำมาเปรียบเทียบ มันเหมือนหนังคนละม้วน
“ชีวิตผมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และไม่ใช่ผมคนเดียวเพราะผมมีอิทธิพลต่อเด็กแก๊ง เรามีเพื่อนที่รักกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไปแสดงออกในทางที่ไม่ถูกนัก เราได้เรียนรู้ จนมั่นใจในศักยภาพที่เรามีต่อละคร ก็นำความรู้ไปสอนน้องๆ ในแก๊งค์ต่อ เพราะเพื่อนเห็นเราเปลี่ยนเขาก็อยากลองบ้าง ในอดีตเราอาจเป็นตัวอันตรายแต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว”
ฤทธิพันธุ์ ระบายความรู้สึกว่า เมื่อก่อนผมไม่ชอบละครเพราะคิดว่ามันหลอกลวง อีกอย่างแม่ชอบเอาคำด่าในละครมาด่าเราด้วยก็เลยยิ่งไม่ชอบไปใหญ่ แต่กิจกรรมมันมีประโยชน์ มีผู้ปกครองหลายคนมาดูเราแสดงละคร หลายคนถึงกับร้องไห้ เพราะเขาเริ่มเข้าใจความรู้สึกลูกหลาน ก่อนหน้าเขาไม่รู้ว่าทำไมลูกหลานเขาถึงมาอยู่แก๊ง เราทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าคนวัยเราต้องการอะไร พอเขาได้ดูก็เข้าใจและก็มาขอบคุณเรา
จากเยาวชนถึงมุมของนักสังเกตการณ์รุ่นใหญ่ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คลุกคลีกับกับกลุ่มคนชาติพันธุ์ บอกว่า การประมวลปัญหาคนชายขอบมาถ่ายทอดผ่านละคร เป็นอีกทางเลือกหนึ่งและทำให้ผู้ชมเข้าใจ โดยปัญหาส่วนใหญ่ของคนชายขอบหนีไม่พ้นเรื่องราวสุดอมตะ อย่าง การไม่มีที่อยู่อาศัย จากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่าสงวน ไร้สัญชาติ
ยกตัวอย่างชาวบ้านปางแดงเกือบ 20 ปี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ที่เชียงดาว ตลอด 30 ปี เขาได้รับการปฎิบัติให้เป็นคนชายขอบ พวกเขาเคยถูกจับ ศาลไม่ยอมให้พวกเขาขึ้นมาฟังในห้องพิพากษาด้วยซ้ำเพราะตัวสกปรก เหม็น แต่วันนี้พวกเขากล้าที่จะจับไมค์ พูดเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น บอกเรื่องราวไปสู่สาธารณะ จากคนที่ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าสบตาคน กลายเป็นคนที่กล้าพูดกล้าเล่า ปกป้องตัวเอง และถึงวันนี้แม้เขาจะเป็นคนชายขอบ แต่เป็นคนชายขอบที่มีความมั่นใจมากขึ้น
ด้าน บัญชา พงษ์พานิช จาก สสส.ขมวดปมแบบน่าบอกต่อตอนหนึ่งว่า ความสุขของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่เพราะกิจกรรมเหล่านี้ได้ส่งให้คนเล็กคนน้อยปรารถนาจะทำสิ่งดีเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมไม่ต่างจากผู้ที่มีความพร้อม ไม่ต่างจากกรณีเยาวชนที่เคยหลงผิด ที่เมื่อมีกิจกรรมเข้าแทนที่ การเปิดใจรับเรื่องใหม่ๆ ย่อมตามมา
แค่สะท้อนปัญหาอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องนำความผิดพลาดไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น ต้องตอบโจทย์คนทุกพื้นที่ ไม่ว่าอีสาน ใต้ ภาคกลาง เราอยากให้ขยายออกไปสู่วงการละครที่กว้างขึ้น เพื่อผลักดันให้สังคมดีขึ้น