โรงเรียนพยาบาลรามาฯ เผย เปิดเออีซีทำบุคลากรไทยไหลออกแน่ หากยังดูแลสวัสดิการไม่ดี เหตุสิงคโปร์จ่อฮุบ แนะ “สธ.-ลูกจ้างวิชาชีพ” หาทางออกบรรจุ ขรก.และการปรับเป็นพนักงาน กสธ.ร่วมกัน ยึดความมั่นคงและสวัสดิการที่ดีพอเป็นหลัก ส่วนปัญหาขาดแคลนพยาบาล เตรียมเร่งผลิตเพิ่มเป็น 350 คนต่อปี พร้อมจับเด็กหน่วยก้านดีให้ทุนเรียนต่อ ป.โท-เอกเป็นอาจารย์พยาบาล
วันนี้ (13 พ.ย.) ผศ.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงวิกฤตปัญหาของพยาบาลในปัจจุบันและความพร้อมของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระหว่างพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ว่า ขณะนี้ไทยถือว่ายังขาดแคลนพยาบาลเป็นอย่างมาก แม้โรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งจะมีการผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยปัจจุบันอัตราส่วนของพยาบาลกับผู้ป่วยอยู่ที่ 1 ต่อ 600 ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ขณะที่สหรัฐอเมริกา และมาเลเซียอยู่ที่ 1 ต่อ 200 อย่างน้อยไทยควรมีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 500 ก็ยังดี แต่ยังทำไม่ได้ ซึ่งหากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนพยาบาล
“วิชาชีพพยาบาลเป็น 1 ใน 7 แรงงานฝีมือตามกรอบ Mutual Recognition Arrangement (MRA) ที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอาเซียน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียคือ มีการไหลเข้าของพยาบาลจากต่างประเทศ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพของไทย แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจมีการไหลออกของพยาบาลไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ที่กำลังในการซื้อสูง แต่หลักสูตรการเรียนการสอนยังไม่เทียบเท่าไทย หากไม่มีการป้องกันตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพยาบาลและอาจารย์สอนพยาบาลเพิ่มมากขึ้น” ผอ.โรงเรียนพยาบาลรามาฯ กล่าว
ผศ.จริยา กล่าวอีกว่า โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้มีการเตรียมพร้อมปรับตัว และรับมือความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว โดยมุ่งเน้น 2 เรื่อง คือ 1.การรักษามาตรฐานและพัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล เช่น การฝึกทักษะด้านภาษาทั้งการสอนในหลักสูตร และโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน การจัดหลักสูตรเฉพาะในการดูแลผู้สูงอายุ การส่งนักศึกษาปริญญาเอกไปเรียนรู้การทำวิจัยต่างประเทศ และสนับสนุนนักศึกษาพยาบาลที่หน่วยก้านดีให้พัฒนาเป็นอาจารย์สอนพยาบาลด้วยการให้ทุนปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นต้น 2.การปรับแผนการผลิตพยาบาลให้เพิ่มมาก ภายใต้โครงการพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยตั้งเป้าที่จะผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 300-350 คนต่อปี จากเดิมที่ผลิตได้ประมาณ 230 ต่อปี
“แต่ปัญหาคือสภาการพยาบาลกำหนดอัตราส่วนจำนวนอาจารย์และนักศึกษาพยาบาลไว้ที่ 1:6 คน หากไม่พอเพียงจะถือว่าไม่ได้รับการรับรองคุณภาพ ซึ่งการเปิดเออีซีหากมีการไหลออกของพยาบาลและอาจารย์พยาบาลจะเกิดวิกฤตทันที เพราะไม่สามารถผลิตพยาบาลออกมารองรับการขาดแคลนได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแลพยาบาลวิชาชีพให้มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม และมีความมั่นคง เพื่อป้องกันการไหลออกในอนาคต” ผอ.โรงเรียนพยาบาลรามาฯ กล่าว
เมื่อถามถึงสถานการณ์พยาบาลในประเทศไทย ผศ.จริยา กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีพยาบาลประมาณแสนกว่าคน แบ่งเป็นพยาบาลที่ทำงานในหอผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ และพยาบาลที่ทำงานในชุมชน ซึ่งภาระหน้าที่ถือว่าหนักมาก เนื่องจากไม่ได้มีหน้าที่แค่ผู้ช่วยแพทย์ แต่มีหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเป็นวิชาชีพที่เสียสละและต้องทำด้วยใจรัก จึงจำเป็นต้องดูแลให้อยู่ในระบบมากที่สุด ซึ่งการดูแลนั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าตอบแทนที่สูงเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการยอมรับจากสังคมและมีความมั่นคง สังเกตได้จากการที่ลูกจ้างพยาบาลวิชาชีพออกมาเรียกร้องบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเงินเดือนถือว่าไม่สูงมาก แต่มีความมั่นคงและสวัสดิการครอบคลุมไปถึงครอบครัว อย่างนักศึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เมื่อศึกษาจบจะทำงานที่โรงพยาบาลรามาฯ เป็นหลัก โดยจะไม่ได้ถูกบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมีค่าตอบแทนสูงกว่าข้าราชการ แม้ไม่เทียบเท่าเอกชน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่สวัสดิการซึ่งไม่แพ้ข้าราชการ ดังนั้น ในเรื่องของระบบการจ้างงานจึงจำเป็นที่จะต้องมีความสมดุลระหว่างค่าตอบแทนและสวัสดิการ
ผศ.จริยา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการปรับลูกจ้างพยาบาลวิชาชีพเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พนักงาน กสธ.) นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพต่างๆ ต้องไปหารือตกลงกันว่ามีความเหมาะสมต่อทุกฝ่ายหรือไม่ ต้องการสวัสดิการอะไรบ้าง หากมีความเห็นร่วมเมื่อไรก็ไม่ใช่ปัญหา และหากทำได้ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาบุคลากรขาดแคลน
นายดลดนัย ใจสินธุ์ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในเรื่องของการทำงานพยาบาลนั้น ตนมองในเรื่องของสวัสดิการมากกว่าเงินเดือนค่าตอบแทน เพราะมีผลต่อเนื่องในระยะยาว อย่างเป็นข้าราชการสิทธิสวัสดิการก็จะครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย ซึ่งการที่ลูกจ้างพยาบาลวิชาชีพออกมาเรียกร้องให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตนก็สนับสนุน เพราะการเป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้นมีความมั่นคงน้อยและเราถูกลดการบรรจุข้าราชการมาหลายปีแล้ว ส่วนการที่ สธ.จะบรรจุให้เป็นพนักงาน กสธ.นั้นไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเมื่อไร
น.ส.นัฐวรรณ วรรณภิละ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า หากตนเรียนจบเป็นพยาบาลแล้ว อย่างไรก็ตาม จะไม่ขอเป็นพนักงาน กสธ.เพราะยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดว่าจะได้รับสิทธิสวัสดิการอย่างไรบ้าง สู้การบรรจุเป็นข้าราชการเลยไม่ได้ ส่วนตัวมองว่าพยาบาลที่ทำงานมาประมาณปีถึง2 ปี ควรบรรจุได้แล้ว เพราะส่วนใหญ่หากทำงาน 5-6 ปีขึ้นไปแล้วยังไม่ได้บรรจุ ก็มักหันไปทำงานอย่างอื่น เพราะการทำงานพยาบาลมีภาระหน้าที่ที่หนักมาก แต่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร อย่างรุ่นพี่ที่จบไปรุ่นละ 200 กว่าคน ทำงานพยาบาลได้แค่ประมาณ 5 ปี ก็ลาออกจากการเป็นพยาบาลหมดแล้ว