ตรวจอะลูมิเนียมในน้ำดื่ม 4 อำเภอน้ำท่วมพิษณุโลก พบเกินมาตรฐาน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร 5% คาด เติมสารส้มมากเกินไป เตือนดื่มน้ำมีอะลูมิเนียมสูง เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์และไตเสื่อม กรมวิทย์เตรียมศึกษาปริมาณเติมสารส้มที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
วันนี้ (12 พ.ย.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อะลูมิเนียมเป็นโลหะที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในครัวเรือนในรูปสารประกอบไฮเดรตเตดโพแทสเซียมอะลูมิเนียมซัลเฟต (สารส้ม) เพื่อกวนน้ำให้ตกตะกอนจนได้น้ำใสมาใช้อุปโภค บริโภค รวมไปถึงใช้ระงับกลิ่นตัวที่รักแร้และเท้า โดยปกติคนทั่วไปมีโอกาสได้รับอะลูมิเนียมเข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคอาหารและน้ำที่มีความใสจากการใช้สารส้มแกว่ง
นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีการควบคุมตรวจสอบปริมาณอะลูมิเนียมในน้ำให้มีปริมาณที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กำหนดให้มีอะลูมิเนียมได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร อะลูมิเนียมที่เข้าสู่ร่างกายประมาณร้อยละ 3 ถูกดูดซึมแพร่กระจายผ่านทางระบบเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมอง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะผ่านไต ซึ่งอาจทำให้ไตเสื่อมได้
“ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย หรือไตบกพร่อง จึงมีความเสี่ยงต่อพิษของอะลูมิเนียมสูงกว่าคนปกติ หากบริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียม หรือสารส้มปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง เกิดผื่นคันเป็นแผลร้อนในได้ และที่สำคัญที่สุด คือ เกิดภาวะสมองเสื่อม และเป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากอะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเนื้อเยื่อประสาท” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มงานพิษวิทยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้เฝ้าระวังอะลูมิเนียมในน้ำบริโภคหลังจากเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิษณุโลก เก็บตัวอย่างน้ำรวมทั้งสิ้น 60 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณอะลูมิเนียมด้วยวิธี Graphite Furnace Atomic Absorption Spectrophotometer (GFAAS) ปริมาณอะลูมิเนียมต่ำสุดในน้ำที่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ของวิธีนี้เท่ากับ 0.06 มิลลิกรัมต่อลิตร
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจวิเคราะห์พบอะลูมิเนียมในน้ำจำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 11.7 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ ปริมาณที่พบมีความเข้มข้นอยู่ในช่วง 0.06 ถึง 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ในจำนวน 7 ตัวอย่างที่พบนั้น มีจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ที่พบปริมาณอะลูมิเนียมเท่ากับ 0.30, 0.39 และ 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่สูงเกินกว่าที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบอะลูมิเนียมเกินมาตรฐานนี้เก็บจากประปาหมู่บ้านในอำเภอพรหมพิราม จำนวน 1 ตัวอย่าง และอำเภอเมือง จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนอาจมาจากการเติมสารส้ม เพื่อทำให้น้ำใสแต่มิได้มีการควบคุมปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ประชาชนที่บริโภคน้ำดังกล่าวจึงยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากพิษของอะลูมิเนียม
“หากบริโภคน้ำที่มีปริมาณอะลูมิเนียมสูงเป็นเวลานานระบบประสาทอาจถูกทำลายและเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้รายงานผลดังกล่าวให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว และจะทำการศึกษาปริมาณการเติมสารส้มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
วันนี้ (12 พ.ย.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อะลูมิเนียมเป็นโลหะที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในครัวเรือนในรูปสารประกอบไฮเดรตเตดโพแทสเซียมอะลูมิเนียมซัลเฟต (สารส้ม) เพื่อกวนน้ำให้ตกตะกอนจนได้น้ำใสมาใช้อุปโภค บริโภค รวมไปถึงใช้ระงับกลิ่นตัวที่รักแร้และเท้า โดยปกติคนทั่วไปมีโอกาสได้รับอะลูมิเนียมเข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคอาหารและน้ำที่มีความใสจากการใช้สารส้มแกว่ง
นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีการควบคุมตรวจสอบปริมาณอะลูมิเนียมในน้ำให้มีปริมาณที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กำหนดให้มีอะลูมิเนียมได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร อะลูมิเนียมที่เข้าสู่ร่างกายประมาณร้อยละ 3 ถูกดูดซึมแพร่กระจายผ่านทางระบบเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมอง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะผ่านไต ซึ่งอาจทำให้ไตเสื่อมได้
“ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย หรือไตบกพร่อง จึงมีความเสี่ยงต่อพิษของอะลูมิเนียมสูงกว่าคนปกติ หากบริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียม หรือสารส้มปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง เกิดผื่นคันเป็นแผลร้อนในได้ และที่สำคัญที่สุด คือ เกิดภาวะสมองเสื่อม และเป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากอะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเนื้อเยื่อประสาท” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มงานพิษวิทยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้เฝ้าระวังอะลูมิเนียมในน้ำบริโภคหลังจากเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิษณุโลก เก็บตัวอย่างน้ำรวมทั้งสิ้น 60 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณอะลูมิเนียมด้วยวิธี Graphite Furnace Atomic Absorption Spectrophotometer (GFAAS) ปริมาณอะลูมิเนียมต่ำสุดในน้ำที่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ของวิธีนี้เท่ากับ 0.06 มิลลิกรัมต่อลิตร
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจวิเคราะห์พบอะลูมิเนียมในน้ำจำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 11.7 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ ปริมาณที่พบมีความเข้มข้นอยู่ในช่วง 0.06 ถึง 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ในจำนวน 7 ตัวอย่างที่พบนั้น มีจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ที่พบปริมาณอะลูมิเนียมเท่ากับ 0.30, 0.39 และ 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่สูงเกินกว่าที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบอะลูมิเนียมเกินมาตรฐานนี้เก็บจากประปาหมู่บ้านในอำเภอพรหมพิราม จำนวน 1 ตัวอย่าง และอำเภอเมือง จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนอาจมาจากการเติมสารส้ม เพื่อทำให้น้ำใสแต่มิได้มีการควบคุมปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ประชาชนที่บริโภคน้ำดังกล่าวจึงยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากพิษของอะลูมิเนียม
“หากบริโภคน้ำที่มีปริมาณอะลูมิเนียมสูงเป็นเวลานานระบบประสาทอาจถูกทำลายและเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้รายงานผลดังกล่าวให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว และจะทำการศึกษาปริมาณการเติมสารส้มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว