xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง สสจ.จับตา 5 โรคที่มากับภัยแล้งใน 12 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.สธ.ห่วงภัยแล้งใน 12 จังหวัด กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต และโรคที่มากับอาหารและน้ำโดยเฉพาะ 5 โรคที่พบบ่อย เช่นอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ หากพบให้เร่งควบคุมโรคป้องกันการแพร่ระบาด และให้โรงพยาบาลทุกระดับสำรองน้ำใช้ เพื่อให้บริการผู้เจ็บป่วยอย่างเพียงพอ

นายแพทย์ ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 12 จังหวัด 94 อำเภอ ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย หนองบัวลำภู มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด และ นครพนม ซึ่งสภาพความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้ อาจมีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพอนามัยประชาชน เนื่องจากการดูแลความสะอาดทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ซึ่งมี 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย และโรคอหิวาตกโรค และขณะเดียวกัน ในสภาพอากาศหนาวเย็นจะเอื้อให้การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสหลายชนิด โดยเฉพาะโรต้าไวรัส (Rota virus) ที่เป็นต้นเหตุของการป่วยโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาวพบได้ทุกปี
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายแพทย์ ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยดำเนินการตาม 6 มาตรการดังนี้ 1.เฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากความเสียหายทางการเกษตร 2.เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ หากพบมีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเกิดขึ้น ให้รีบดำเนินการควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดทันที 3.ดูแลควบคุมมาตรฐานน้ำประปาโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงงานผลิตน้ำแข็ง 4.ดูแลกวดขันความสะอาดโรงอาหารโรงเรียน ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร และตลาดสด 5.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดูแลความสะอาดส้วมสาธารณะต่างๆ เช่น ส้วมในร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น และ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนให้รู้จักอาการของโรควิธีการปฏิบัติตัวไม่ให้ป่วย โดยเฉพาะมาตรการกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ และขอความร่วมมือให้ดูแลความสะอาดห้องส้วมห้องครัวในบ้านเป็นพิเศษ

สำหรับในโรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้ทุกแห่งสำรองน้ำใช้ไว้อย่างเพียงพอในการให้บริการผู้ป่วยและญาติ ดูแลระบบการบำบัดน้ำเสียให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่รอบโรงพยาบาล และนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น รดต้นไม้เพื่อร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด

ด้านนายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชนจากกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร 5 โรคที่กล่าวมา ในปี 2555 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นพฤศจิกายน มีผู้ป่วยทั้งหมด 1,164,902 ราย เสียชีวิต 38 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จำนวน 1 ล้านกว่าราย เสียชีวิต37 ราย รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ พบผู้ป่วยประมาณ 98,000 ราย เสียชีวิต 1 ราย และโรคบิด จำนวน 5,645 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือกำชับให้จังหวัดดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดแล้ว และจะมีการประชุมทางระบบวิดีทัศน์เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เป็นระยะๆ

ในการป้องกันขอให้ประชาชนดูแลความสะอาดอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะกำจัดขยะมูลฝอย แยกเขียงและมีดหั่นอาหารดิบกับอาหารสุก กินอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากอาหารข้ามมื้อให้อุ่นให้ร้อน หรือเดือดก่อนใช้ช้อนกลางตักอาหาร ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วมก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง หากมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำติดต่อกันมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ขอให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ดื่มแทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์ใกล้บ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น