ข้อบัญญัตติสงเคราะห์ผู้ประสบภัย กทม.ประกาศใช้แล้ว กทม.เตรียมขอสภา กทม.นำเงินสะสม 5 พันล้าน เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ชดเชยเงินเดือนครู
วันนี้ (9 พ.ย.) ที่ศาลาว่าการ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.พร้อมด้วย นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก) ในฐานะโฆษกสภา กทม.และ นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ส.ก.ร่วมกันแถลงข่าวแนวทางการให้ความช่วยเหลือเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัย กทม.ซึ่งสภา กทม.และคณะผู้บริหาร กทม.ได้ประสานความร่วมมือกันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล โดยได้ร่วมกันพิจารณาและออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2555 เรียบร้อยแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2555 เป็นต้นมา ทั้งนี้ กทม.จะเสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสภา กทม.วันที่ 14 พ.ย.2555 เพื่อขอความเห็นชอบในการจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย เป็นเงินกว่า 1,800 ล้านบาท คาดว่า กระบวนการพิจารณาและขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2555 จากนั้น กทม.จะสามารถจ่ายเงินเยียวให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยได้ต่อไป
นายประเดิมชัย กล่าวด้วยว่า สภา กทม.จะบรรจุญัตติของฝ่ายบริหารในการขอความเห็นชอบการจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อพิจารณาในการประชุมสภา กทม.ในวันพุธที่ 14 พ.ย.2555 ซึ่งนอกจากเรื่องการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ยังรวมถึงการจ่ายเงินชดเชยเงินเดือนครู โครงการก่อสร้างถนนเพิ่มเติม และการก่อสร้างอุโมงค์สูบน้ำคลองบางซื่อ โดยสภา กทม.และ กทม.จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด
ด้าน นายธีระชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2555 กทม.สามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าที่คาดไว้กว่า 45,000 ล้านบาท ทำให้สามารถนำเงินสะสมมาช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในโครงการต่างๆ ได้เป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ดังนั้น กทม.จึงจะเสนอต่อสภา กทม.เพื่อขอความเห็นชอบพิจารณาในการจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยประมาณ 1,800 ล้านบาท และเป็นเงินชดเชยเงินเดือนครู ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นยิ่ง เนื่องจาก กทม.ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวดังเช่นที่ผ่านมา