โดย..รัชญา จันทะรัง
พลันที่เสร็จสิ้นการแถลงข่าวจากตัวแทนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟา ที่ประกาศไม่เสียงดังฟังชัด ไม่อนุมัติให้ใช้สนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา (หนองจอก) ทำศึกฟาดแข้งฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และรอบชิงชนะเลิศด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย !!
การตัดสินของฟีฟาครั้งนี้ ทำเอาสะเทือนเลื่อนลั่นวงการกีฬาไทย-กีฬาโลก ที่สำคัญ เปรียบเสมือนฟ้าผ่ากลางกบาลคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเฉพาะผู้ชายที่ชื่อ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่อุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนคุมการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่หนองจอกด้วยตนเองมาก็หลายเพลา จนกระทั่งในช่วงเย็นวันที่ 6 พ.ย. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยความยินดีปรีดา เพื่อแจ้งความคืบหน้าของสนามฟุตซอลว่า
“สวัสดีครับ สนามฟุตซอลหนองจอก พร้อมใช้แข่งขันค่ำในวันที่ 7 พ.ย.นี้ งานสำคัญเสร็จหมด รวมถึงหลายๆ งานที่ฟีฟาสั่งเพิ่มในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ที่ยังไม่เสร็จ คือ ห้องรับแขกของฟีฟาครับ ซึ่งไม่น่าจะเกิน 3-4 วัน” ซึ่งเป็นการโพสต์ข้อความก่อนที่ฟีฟาจะแถลงห้ามใช้สนามแห่งนี้ดับฝันของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน...
...ย้อนกลับไปดูเส้นทางสร้างสนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา สู่อนุสรณ์สถานจากคำพิพากษาของฟีฟา จะเห็นได้ว่า มีวิบากกรรมอยู่ไม่น้อย เพราะแม้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กทม.จะบิดชนะเหนือ 5 ประเทศที่ต่างเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั้งสาธารณรัฐเช็ก ประเทศอียิปต์ ประเทศโปรตุเกส ประเทศอิหร่าน และประเทศนิวแคลิโดเนีย แต่ในที่สุด ฟีฟาก็ได้เลือกเมืองหลวงของประเทศไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบสุดท้ายการแข่งขันกีฬาฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7 ในปี 2555 เมื่อมีนาคม 2553
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่ กทม.จะเข้ามารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพสร้างสนามฟุตซอลแห่งใหม่นั้น ใช่ว่ากทม.จะกระสันอยากสร้างเอง หากไม่มีเหตุจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งมีผู้กุมบังเหียนชื่อ ชุมพล ศิลปอาชา ซึ่งรับภารกิจมาตั้งแต่ต้น คือ ช่วงปี 2551-2552 แต่กลับไม่มีความชัดเจนว่า จะก่อสร้างสนามฟุตซอลโลกแห่งใหม่ ซึ่งมีความจุ 1-1.5 หมื่นที่นั่ง ตามมาตรฐานของฟีฟา ซึ่งเป็นสนามหลักที่ไหน จนในที่สุดหวยจึงมาออกที่ กทม.รับมอบภารกิจสำคัญในการก่อสร้างสนามฟุตซอลชิงแชมป์โลก!!
...กทม.ได้เสนอพื้นที่การก่อสร้างสนามกีฬาใน 3 รูปแบบ คือ การก่อสร้างสนามกีฬาขึ้นใหม่โดยใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณมักกะสัน ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเมื่อไปเจรจาแล้วเจ้าของที่เขาไม่ให้ หรือบนพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการ กทม.เขตหนองจอก และการปรับปรุงสนามอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก และสนามกีฬานิมิบุตร รวมถึงยังมีกระแสข่าวที่จะเช่าที่ของ อสมท สร้างสนามฟุตซอลโลก แต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปที่จะสร้างสนามแข่งขันฟุตซอลแห่งใหม่บนพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการ กทม.เขตหนองจอก อันเป็นพื้นที่ของ กทม.ในการดำเนินการก่อสร้างเอง ซึ่งกว่าจะได้ข้อสรุปนี้ต้องรอมติ ครม.ไปจนถึงเดือน พ.ย.2553
จากนั้นต้นปี 2554 กทม.ได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ศึกษา สำรวจออกแบบ และวางแผนการใช้พื้นที่สนาม ซึ่งตามสัญญาต้องใช้เวลา 1 ปี แต่ในความเป็นจริง กทม.ได้เร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อให้ทันเงื่อนเวลาที่กระชั้นเข้ามา แต่ไม่ใช่ว่าออกแบบเสร็จปุ๊บจะสามารถใช้ได้ปั๊บ เพราะยังต้องไปผ่านขั้นตอนขอความเห็นชอบซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ได้เสนอขอความเห็นชอบในแบบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งทาง มท.ได้เห็นชอบในแบบและส่งเรื่องกลับมายัง กทม.ในเดือน ส.ค.2554 ขณะที่สำนักงบประมาณอนุมัติแบบสนามกลับมาในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งใช้เวลาถึง 6 เดือนเต็มกว่า ที่สำนักงบประมาณจะผ่านไฟเขียวให้แบบสนามฟุตซอลโลกของ กทม.แห่งนี้ !!?
...ด้วยเหตุนี้ แม้ กทม.จะสามารถจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างสนามฟุตซอลได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.2554 คือ บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) แต่กว่าจะเซ็นสัญญาว่าจ้างและลงมือก่อสร้างให้เป็นรูปธรรมกันได้ก็ล่วงเข้าเดือน ม.ค.2555 อันเป็นปีที่ต้องจัดการแข่งขัน !!
ในส่วนของงบประมาณการก่อสร้างนั้น ทางรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้อนุมัติในกรอบทิ้งทวนก่อนลงจากเก้าอี้ผู้นำเมื่อเดือน พ.ค.2554 วงเงิน 1,239 ล้านบาท โดยเป็นงบอุดหนุนจากรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี นับแต่ปีงบประมาณ 2554-2556 ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลได้อนุมัติโครงการมาแล้ว แต่พอเอาเข้าจริงกลับยังไม่มีตัวเงินให้ กทม.ร้อนถึง ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ที่กำกับดูแลด้านการเงิน การคลัง กทม.สรรหาวิธีนำเงินมาผลักดันโครงการให้เดินหน้าต่อด้วยการขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจนได้รับการอนุมัติมา 402 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตั้งงบประมาณปี 2555 ให้จำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งระหว่างที่ยังไม่มีความขัดเจนเรื่องงบประมาณ กทม.ก็ได้วางแผนที่จะตอกเสาเข็มก่อนโดยสำรองงบประมาณของ กทม.แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะแบบยังไม่ผ่านการเห็นชอบ
ช่วงระยะเวลานี้่ปัญหาต่างๆ ประเดประดังเข้ามา ทั้งการยื้อเงินงบประมาณที่กรมบัญชีกลางจะต้องจ่ายให้ กทม.เป็นงวดๆ จากนักการเมืองขาใหญ่ และงบประมาณก่อสร้างที่ยังได้ไม่ครบผนวกกับก่อนหน้านี้ ที่ กทม.ก็ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554-2555 ทำให้โรงงานผลิตเสาเข็มถูกน้ำท่วม ฯลฯ ส่งผลให้ กทม.ต้องปรับแผนมาดำเนินการในไซต์งานเอง เพื่อให้ทันต่อระยะเวลาที่งวดเข้ามา แต่กระนั้น กทม.ก็ได้รายงานฟีฟ่าทุกอย่างและเข้าใจเป็นอย่างดีมีการมาตรวจงานเป็นระยะๆ
แต่ดูเหมือน กทม.จะต้องเผชิญวิบากกรรมไม่หยุดหย่อน เพราะพื้นสนามที่สั่งนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการสั่งซื้อแบบสำเร็จรูปมาตรฐานฟีฟา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 กลับยังมาไม่ถึง กทม.ซักที โดยมีการแจ้งจาก บริษัท ซีวิล มาสเตอร์ คอรสตรัคชั่น จำกัดคู่สัญญา บ.อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดซื้อจาก บ.CONNOR ซึ่งในใบกำกับสินค้าได้ระบุอย่างชัดเจน ว่า ทางบริษัทผู้ผลิตได้จัดส่งสินค้ามาจากต้นทางประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2555 และมีการระบุอย่างชัดเจนว่า พื้นไม้สำเร็จรูปทาสีเสร็จเรียบร้อยตามมาตรฐานของฟีฟาจำนวน 1,242 ตารางเมตร ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับสนามฟุตซอลหนองจอกของ กทม.เท่านั้น ส่งตรงปลายทางที่ท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) ไม่ต้องไปผ่านที่ท่าเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน จนทำให้สินค้ายังส่งออกมาไม่ได้ ขณะที่สนามอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก ได้สั่งซื้อไปทีหลังในวันที่ 5 ก.ย.2555 กลับได้รับพื้นสนามฟุตซอลมาติดตั้งจนแล้วเสร็จ
ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่ กทม.จะต้องส่งมอบสนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา ให้ฟีฟา และนั้นทำให้ กทม.ตัดสินใจสั่งซื้อพื้นสนามจากมาเลเซีย ไต้หวัน และอิตาลี เพื่อนำมาติดตั้งแทนจนกระทั่งของล็อตแรกส่งมาถึงเมื่อ 30 ต.ค.2555 ฟีฟากลับขอให้ กทม.ชะลอการติดตั้ง เนื่องจากอยากได้พื้นจากอเมริกามากกว่า ซึ่งจะเดินทางมาถึงใน 2 วันจากนั้น
ท้ายที่สุดแล้ว หลังฟีฟาเลื่อนชี้ชะตาการใช้สนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา มาหลายครั้งหลายครา และดูเหมือนจะมีแววสดใสที่ฟีฟาจะให้ใช้สนามแห่งนี้แข่งขันฟุตซอลโลกได้สมเจตนารมณ์ แต่เหมือนฟ้าถล่มแผ่นดินทลายต่อหน้าประชาชนชาวไทย ทั้งประเทศ และเป็นข่าวออกไปทั่วโลก เมื่อฟีฟาลงมติห้ามใช้บางกอก ฟุตซอล อารีนา ในทุกแมตช์การแข่งขันด้วยเหตุผลของความปลอดภัยเป็นสำคัญ แม้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสถ.) จะออกใบรับรองความปลอดภัยโครงสร้างอาคารที่ กทม.รับหน้าเสื่อเนรมิตสนามภายในระยะเวลาอันสั้น ก็ยังไม่เป็นผลเรื่องศักดิ์ศรี หน้าตาของประเทศเจ้าภาพคงไม่ต้องพูดถึงแต่คนที่อกตรมที่สุดคงจะหนีไม่พ้น “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” เพราะความพยายามที่ทั้งหมดมันพังทลายอย่างไม่เป็นท่า!!
...เอาเป็นว่าคิดในแง่ดีสนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา แม้จะกลายเป็นสนามร้างในการแข่งขันชิงแชมป์ฟุตซอลโลก ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ก็ยังมีโอกาส กทม.จะนำไปใช้จัดการแข่งขันอื่นๆ ตลอดจนการอบรมสัมมนา การจัดคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งหากคิดในแง่ดีมันก็คงจะดีกว่าเสาโฮปเวลล์ที่ตั้งตระหง่าน และยังไร้การใช้ประโยชน์มานมนาน แต่หากคิดในแง่ร้ายไม่แน่คนที่ลงสู้ศึกการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้าอาจจะไม่ใช่ผู้ชายที่ชื่อ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นได้!!!