xs
xsm
sm
md
lg

หนุนร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ฉบับประชาชน มีผลบังคับใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศิลปินแห่งชาติ-ศิลปินพื้นบ้าน” ประสานเสียงหนุน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯฉบับภาคประชาชน เชื่อ ช่วยต่อลมหายใจ-ยกระดับสื่อพื้นบ้าน

วันนี้ (4 พ.ย.) นายชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวถึงการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับภาคประชาชนมีผลบังคับใช้ ว่า เวลานี้สื่อพื้นบ้านค่อนข้างมีความเฉื่อยชา แม้จะทำมานานแต่ก็ไม่มีการปลุกกระแสให้เกิดการรับรู้ หากเรามีช่องทางที่จะทำให้สื่อพื้นบ้านนั้นมีคุณภาพก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนางานด้านนี้ได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น ควรหาข้อยุติให้ได้สำหรับร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ฉบับรัฐบาลและฉบับภาคประชาชน เพราะหาก พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนได้มีบทบาทถูกนำไปใช้จะทำให้สื่อพื้นบ้านเกิดความเข้มแข็ง และพัฒนาต่อยอดงานอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องลิขสิทธิ์ ศิลปินที่ร้องเพลงดีเป็นคนมีคุณภาพในการใช้เสียงแต่ไม่มีช่องทางที่จะนำเพลงนี้ออกมาใช้ร้องได้ สุดท้ายต้องตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่มีคุณภาพด้านการร้องเพลง ทำให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้สื่อต่างๆ ที่มีคุณภาพต้องอยู่ตามบุญตามกรรม โดยที่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ผูกแขนผูกขาเอาไว้ สุดท้ายผลงานก็หดหาย จำกัดอยู่ในกลุ่มแคบๆ

“หากใช้ พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยคงสาระสำคัญของเนื้อหาจากฉบับภาคประชาชนไว้ เชื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหาสื่อพื้นบ้านได้เป็นอย่างมาก เช่น มีงบประมาณด้านโฆษณาให้กับสื่อพื้นบ้าน ซึ่งตนไม่รู้ว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในเรื่องสื่อพื้นบ้านที่กว้างขวางมากน้อยแค่ไหน หากประชาชนได้เข้าไปมีสิทธิ์มีเสียงก็จะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะมุมมองจะกว้างขึ้น ดังนั้น รัฐบาลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องรับฟังเสียงประชาชน หากทำไปโดยไม่ฟังเสียงทักท้วง ประเทศจะเดินหน้าไม่ได้” ศิลปินแห่งชาติ กล่าว

ด้านอาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า หาก ร่างพ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยฯ ฉบับภาคประชาชน มีผลบังคับใช้จะช่วยให้สื่อพื้นบ้านหรือสื่ออื่นๆ ที่ทำงานเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวอย่างแท้จริงมีเวทีในการนำเสนอผลงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่คิดถึงเรื่องของค่าตอบแทนนอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือและสร้างคุณค่าให้กับศิลปินพื้นบ้านซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ ในขณะที่สื่อที่อยู่ในการกำกับของรัฐบาลทุกวันนี้เน้นการทำหน้าที่เพื่อรับนโยบายภาครัฐและนายทุน โดยเฉพาะข้าราชการที่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง อำนาจตัดสินใจทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของนักการเมือง ข้าราชการไม่สามารถทำอะไรเองได้ ทุกวันนี้สื่อที่อยู่ในการกำกับของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมทำหน้าที่สร้างสรรค์สังคมได้น้อยมาก ดูได้จากสื่อที่เป็นละครจะนำเสนอความรุนแรง เพศ ความฟุ้งเฟ้อแทบทุกเรื่องมีฉากตบจูบให้เห็นเป็นจำนวนมาก เป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงใหลไปตามกระแสทุนนิยมที่กลุ่มนายทุนอยู่เบื้องหลัง ทุกวันนี้แทบจะน้อยมากที่สื่อต่างๆจะให้ความสำคัญกับการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนรับผิดชอบตัวเองเชื่อฟังพ่อแม่และรู้จักหน้าที่ของตัวเอง

“สื่อในอดีตหรือสื่อพื้นบ้านเช่นนิทานรุ่นเก่าจะเน้นสอนให้เด็กรู้จักรักพ่อแม่ช่วยเหลืองานบ้านมีความกตัญญู อยู่กันอย่างพอเพียงไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เหมือนกับสื่อสมัยนี้นำเสนอภาพที่มีแต่ความสวยหรู ดุด่าพ่อแม่ หนีเรียน ติดเกมส์ เหล่านี้ล้วนมาจากสื่อที่อยู่ในการกำกับของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งนั้น” อาจารย์บุญเสริม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น