สธ.จัดทำเกณฑ์จริยธรรมส่งเสริมการขายยา นำร่องแล้วใน 20 โรงพยาบาลรัฐ เพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้านยา รองปลัด สธ.ย้ำ ต้องใช้ทั้งกฎเกณฑ์และจริยธรรมควบคู่ในการแก้ปัญหา
วันนี้ (30 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะคณะทำงานวิชาการธรรมาภิบาลด้านยา องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการนำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาไปสู่การปฏิบัติ” ว่า ประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันในระบบยาสูง สามารถสังเกตได้ว่า ประเทศนั้นจะมีราคายาสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ขณะที่ประเทศไทยแม้จะได้รับการยอมรับจาก WHO ว่าเป็นประเทศมีแนวทางปฏิบัติดีที่สุดในการป้องกันการทุจริตด้านยา และมีราคายาต่ำกว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีฐานข้อมูลด้านยา ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายและการทุจริตด้านยาได้ ก็ต้องยอมรับว่ายังคงมีการทุจริต หรือการรั่วไหลของยาอยู่ แต่เป็นกระบวนการทุจริตรูปแบบใหม่ๆ เช่น กรณีการลักลอบนำยาซูโดอีเฟดรีนไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเสพติด ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาระบบการป้องกันให้ดีขึ้นและทันต่อกระบวนการทุจริตรูปแบบใหม่ๆ เสมอ เพื่อให้กระบวนการทุจริตเหล่านั้นลดลง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีระบบการเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง แม้จะทำให้มีกรณีฉาวเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ก็จะทำให้เกิดการป้องกันที่เข้มแข็งขึ้น
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันจะต้องใช้ 2 ยุทธศาสตร์ควบคู่กันไป คือ 1.การออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ และ 2.สร้างจริยธรรมให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านยา โดยยึดในเรื่องของความโปร่งใสให้เป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง อาทิ การนำรายงานการประชุมคณะกรรมการสำคัญต่างๆ เผยแพร่ในเว็บไซต์ สมาคมบริษัทยาต่างๆ ต้องทำเกณฑ์จริยธรรม เช่น การส่งเสริมการขายยา เนื่องจากข้อมูลสถานการณ์ด้านยาโลกปี 2011 เรื่องธรรมาภิบาลในระบบยา ได้กล่าวถึงผลการสำรวจเชิงปริมาณใน 25 ประเทศ ว่า การส่งเสริมการขายยา เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันมากที่สุดและเป็นจุดอ่อนที่สุดของระบบยา
“การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็น 1 ใน 16 นโยบายของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการต่อเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย และให้ออกประกาศเป็นเกณฑ์กลางของประเทศต่อไป ในส่วน สธ.ก็กำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของธรรมาภิบาลในระบบยา โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นการส่งเสริมการขายยาจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนนี้ด้วย” รองปลัด สธ.กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาชี้แจงว่า ระบบการประมูลยาของโรงพยาบาลรัฐที่ต้องซื้อยาราคาต่ำลงเรื่อยๆ เพื่อให้ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อน ทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพของยาที่ประมูล นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ตรงนี้มีการควบคุมยาอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยทุกโรงพยาบาลของรัฐต้องทำระบบรายงานราคายากลับเข้า สธ.เพื่อเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ในการเปรียบเทียบราคายา ทำให้เกิดการเลือกซื้อยาที่มีคุณภาพดีแต่ราคาถูก และเกิดเป็นกระบวนการควบคุมราคายาที่มีคุณภาพ ส่วนการควบคุมให้โรงพยาบาลเอกชนจัดทำรายงานราคายาด้วยนั้น ต้องแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ให้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม
ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ในหลักเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้งผู้สั่งใช้ยา ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในสถานพยาบาล เภสัชกรในสถานพยาบาล สถานบริการเภสัชกรรม หรือหน่วยงานอื่นๆ บริษัทยา และผู้แทนยา อาจารย์และนักศึกษาของสถานศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้ 1.การรับประโยชน์อันเป็นทรัพย์สิน ของขวัญ ของบริจาค บริการ การจัดอาหารและเครื่องดื่ม 2.การรับตัวอย่างยา 3.การรับทุนสนับสนุนจากบริษัทยาไปประชุม สัมมนา อบรม ดูงานหรือบรรยายทั้งในและต่างประเทศ การสนับสนุนการวิจัย 4.การดำเนินการเพื่อส่งเสริมการขายยาของบริษัทและผู้แทนยาในโรงพยาบาล และ 5.การดำเนินการเพื่อการคัดเลือกยา และระบบการคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายยาและระบบการจัดซื้อยาที่เปิดเผย
ภญ.สุนทรี กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์ต่างๆ อาจทำให้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น แต่ก็ประกันได้ว่าจะเกิดการทุจริตลดลง ซึ่งขณะนี้เริ่มนำร่องหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วในโรงพยาบาลรัฐประมาณ 20 แห่ง โดยโรงพยาบาลที่พร้อมนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปปฏิบัติมี 4 แห่ง ได้แก่ รพ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ รพ.บ้านธิ จ.ลำพูน รพ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา และรพ.สงขลา จ.สงขลา ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างเตรียมนำหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติมี 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.ราชวิถี และรพ.รามาธิบดี ส่วนที่เหลืออีกหลายแห่งเตรียมนำหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติต่อไป
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผงงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ในฐานะรองประธานคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล กล่าวว่า สำหรับที่มีการเสนอให้ตัดหมวดผู้สั่งใช้ยาออกจากเกณฑ์จริยธรรมฯ นั้น ขอเน้นย้ำว่า เกณฑ์จริยธรรมฯ ดังกล่าว เป็นเกณฑ์กลางของประเทศที่บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงหรือไม่พึงปฏิบัติ ไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย และไม่ได้ขัดแย้งกับเกณฑ์ใดๆ รวมทั้งผ่านขั้นตอนการพิจารณาและรับฟังความเห็นหลายครั้ง ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งที่พร้อมเป็นโรงพยาบาลนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลอื่นต่อไป นับเป็นก้าวแรก และก้าวสำคัญในการสร้างธรรมาภิบาลในระบบยา เพื่อประโยชน์ให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลต่อไป