สะรอนี ดือเระ, นูรยา เก็บบุญเกิด
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
หนุ่มใหญ่อายุราว 40-60 ปี ประมาณ 30 คน เดินอย่างมุ่งมั่นเข้ามาในห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ในช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2555 เพื่อร่วมเวทีนโยบายสาธารณะ “ชายแดนใต้จัดการตนเอง : พลังการเมืองภาคประชาชน กำหนดอนาคตชายแดนใต้” จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้
ทุกคนได้รับเอกสารปกสีเขียว ปรากฏชื่อชัดชัดเจนว่า “ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?” ทำให้แต่ละคนรีบเปิดอ่านอย่างสนอกสนใจ เสมือนต้องการคำตอบจากคำถามเวียนวนอยู่บนใบหน้า เช่นเดียวกับชื่อเอกสารที่จบประโยคด้วยเครื่องหมายคำถามตัวโต
เวทีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของวิทยากรกระบวนการที่มาจาก “เครือข่ายชุมชนศรัทธา” หรือ “กำปงตักว่า” ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มหมู่บ้านที่เน้นการใช้หลักศาสนานำการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายแวรอมลี แวบูละ เป็นหัวหน้ากลุ่ม
กลุ่มเป้าหมายของการจัดเวทีครั้งนี้ คือ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายชุมชนศรัทธาอยู่แล้ว
ในห้องประชุมซึ่งมีแผ่นป้ายแสดงเส้นโยงใยไปมาเป็นฉากหลัง อาจารย์แวรอมลี ยืนถือไมค์อธิบายหน้าห้องว่า เครือข่ายชุมชนศรัทธาเป็นหนึ่งในสมาชิกของ “สภาประชาคมชายแดนใต้” มีสำนักงานปฏิรูป (สปร.) เป็นองค์กรสนับสนุนระดับชาติ ได้ร่วมกันจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา
“พวกเขาเห็นร่วมกันว่า เรื่องการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเป็นประเด็นสาธารณะสำคัญที่ต้องหยิบยกมาพูดคุยอย่างจริงจัง จึงกำหนดให้สภาประชาคมชายแดนใต้จัดการพูดคุยรวม 200 เวที เพื่อระดมความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ โดยมีสถาบันทางวิชาการช่วยสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษต่างๆ เป็นตัวอย่าง ซึ่งปรากฏในเอกสารที่อยู่ในมือแล้ว”
วิทยากรจากกลุ่มเครือข่ายชุมชนศรัทธา ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการจัดเวทีทั้งหมด 23 เวที แยกเป็นเวทีกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป 16 เวที ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเวทีแรกจัดไปแล้วที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ที่เหลือเป็นเวทีกลุ่มเฉพาะ 7 เวที โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้นำชุมชน 3 เวที และผู้นำศาสนา 4 เวที ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
“ผมจับความรู้สึกของทุกคนในห้องนี้ได้ว่า ทุกคนอยากได้การเปลี่ยนแปลงใช่ไหมครับ ไม่อยากตอบ ก็ยกมือได้ครับ” อาจารย์แวรอมลี เริ่มเปิดประเด็นพูดคุย ซึ่งทุกคนต่างยกมือกันอย่างพร้อมเพรียง
เปิด 6 ทางเลือกโมเดลปกครองชายแดนใต้
อาจารย์แวรอมลี พร้อมทีมวิทยากรเริ่มต้นบทสนทนาโดยอธิบายถึงแนวคิดการปกครองตนเองรูปแบบพิเศษตามเนื้อหาในเอกสาร พร้อมกับอธิบายภาพบนแผ่นป้ายพลาสติกขนาดใหญ่ให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ด้วย
ภาพบนแผ่นป้ายเป็นโมเดล หรือรูปแบบตัวอย่างของโครงสร้างการบริหารการปกครองพื้นที่ โดยใช้หลักการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลาง เพื่อเป็นทางเลือกในการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 6 รูปแบบ ให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็น
ภาพประกอบเป็นรูปพีระมิดสีแดง และสีเขียวเรียงรายเป็นตารางเต็มพื้นที่ ซึ่งวิทยากรช่วยกันอธิบายให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแต่ละรูปแบบ ตั้งแต่ระดับชาติลงมาถึงระดับพื้นที่ อันประกอบด้วย ระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับเมืองและระดับประชาชน รวมทั้งอธิบายความสัมพันธ์ของอำนาจแต่ละระดับของแต่ละรูปแบบในเชิงเปรียบเทียบด้วย
ทั้ง 6 รูปแบบ หรือ 6 ทางเลือกมีดังนี้
ทางเลือกที่ 1 “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.” เป็นรูปแบบการปกครองพื้นที่ในปัจจุบัน คือ การบริหารการปกครองรูปแบบพิเศษในระดับภูมิภาค ครอบคุลมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล
ทางเลือกที่ 2 “ทบวง” มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง มีรัฐมนตรีทำหน้าที่ดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองปลัดทบวง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนเดิม
ทางเลือกที่ 3 “สามนครสองชั้น” ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คงเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไว้
ทางเลือกที่ 4 “สามนครหนึ่งชั้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และยกเลิก อบจ. เทศบาล และ อบต.
ทางเลือกที่ 5 “มหานครสองชั้น” รวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งเดียวและให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ยังคงอบจ.เทศบาล และ อบต.ไว้ดังเดิม
ทางเลือกที่ 6 “มหานครหนึ่งชั้น” รวมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ยกเลิกองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด
อันที่จริงยังมีทางเลือกที่ 7 ด้วย คือ กระดาษเปล่า ที่พร้อมจะให้ผู้เข้าร่วมได้เพิ่มหากไม่เห็นด้วยกับทางเลือกที่เสนอมา
อาจารย์แวรอมลี บอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือน่ากลัวเลย หากจะมีการกระจายอำนาจโดยใช้การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เพราะที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจทางการเมืองของประเทศก็ได้พูดถึงเรื่องนี้มาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“เรื่องที่เราจะพูดกันวันนี้เป็นเรื่องเก่าที่หะยีสุหลงเคยเสนอ แต่การเสนอของเขาครั้งนั้น กลับทำให้เขากลายเป็นคนผิด และนำไปสู่โศกนาฏกรรม แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะเราจะคุยกันในกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับปี พ.ศ.2540 และปี พ.ศ.2550 เป็นการยืนยันถึงความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทย” หนึ่งในวิทยากรกระบวนการกล่าวในที่ประชุม
“ไม่เอาแบ่งแยกดินแดน แต่อยากมีสิทธิพัฒนาบ้านตัวเอง”
เมื่อการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเริ่มลื่นไหล หลากหลายความคิดก็พรั่งพรูออกมา กำนันคนหนึ่งกล่าวในเวทีว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็เคยเสนอให้ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษทั้งนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการพูดคุยในเวทีนี้
ขณะที่กำนันอีกคนเสนอว่า เขาอยากได้การปกครองในรูปแบบแรก คือ ให้มี ศอ.บต.อยู่เช่นเดิม แต่อยากให้เพิ่มสภาประชาชนในทุกระดับชั้น โดยให้แต่ละชั้นมีประชาชนเป็นสมาชิกประมาณ 100 คน
นายไบฮากี แมทาลง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า อยากให้อำนาจเป็นของประชาชนในพื้นที่ในการเลือกตั้งผู้นำ ซึ่งจะทำให้ผู้นำทำงานอย่างจริงจังมากกว่า เนื่องจากเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จริง อย่างตนเองที่ต้องทำงานตอบแทนประชาชนที่เลือกตนมาเป็นผู้นำ ซึ่งควรใช้หลักการเดียวกันกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่อยากให้ประชาชนในพื้นที่มีสิทธิมีเสียงในการพัฒนาบ้านของตนเองบ้าง ไม่ใช่รอฟังคำสั่งจากหน่วยเหนืออย่างเดียว โดยไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือมีการรับปากว่าจะทำตามที่ประชาชนเสนอ แต่พอนโยบายลงมาจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ชาวบ้านข้อเสนอ”
“ต้องเข้าใจว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ คือ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่นโยบายที่ลงมาบางอย่างขัดกับหลักความเชื่อ หรือหลักศรัทธาของคนในพื้นที่” นายไบฮากีกล่าว
ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.สากอ เล่าด้วยว่า ตนเป็นผู้ใหญ่บ้าน เวลามีงานพิธีต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐเชิญตนไปก็ต้องไป ทั้งๆ ที่บางครั้งรู้สึกอึดอัด เพราะขัดกับหลักศรัทธาของศาสนาอิสลาม เช่น บางพิธีมีการจุดเทียน หรือกล่าวโอวาท หรือบางครั้งต้องไปรอต้อนรับคณะต่างๆ ที่มาจากส่วนกลางร่วมกับชาวบ้านตั้งแต่เช้า แต่เมื่อถึงเวลาละหมาดกลับหาที่ละหมาดไม่ได้เลย ทำให้คนที่ไปรอรู้สึกไม่พอใจ บางคนต้องดิ้นรนไปหาที่ละหมาดเอง แสดงให้เห็นว่าผู้จัด หรือเจ้าภาพไม่เข้าใจคนมุสลิม
“ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นสมาชิก อบต. เห็นว่าเวลา อบต.เสนอบางโครงการไปยังส่วนกลาง เช่น โครงการตาดีกาแล้วไม่รับการอนุมัติ โดยให้เหตุผลว่า โรงเรียนตาดีกาไม่ได้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลรู้ว่าเรื่องนี้ผิดระเบียบแล้วทำไมไม่แก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อยังไม่ถูกต้อง มัสยิด หรือโรงเรียนตาดีกาก็พัฒนาไม่ได้” เป็นคำกล่าวที่เจือด้วยความรู้สึกของผู้ใหญ่บ้านคนนี้
บรรยากาศในห้องประชุมเริ่มจริงจัง และเข้มข้นขึ้น หลายคนรู้สึกต้องการข้อมูล หรือคำอธิบายเพิ่มเติมตลอดเวลา ในเรื่องอำนาจการบริหารการปกครอง
ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งสะท้อนว่า สภาพปัจจุบันตนเองมีอำนาจด้านการปกครองระดับหนึ่ง แม้เป็นเพียงในระดับหมู่บ้าน หากเกิดการเปลี่ยนแปลงก็รู้สึกเสียดาย
“อย่าให้อำนาจไม่ชอบธรรมมาครอบงำ ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง”
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของโต๊ะประชุมเสนอว่า ยังไม่อยากให้มองที่ทั้ง 6 รูปแบบที่เสนอมา แต่อยากให้ดูสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ว่า ตรงไหนที่ต้องแก้ไขบ้าง ตรงไหนที่สามารถแก้ไขได้ทันที ก็ทำตรงนั้นก่อน
แม้พันธกิจหลักของเวทีวันนี้ คือ ความพยายามให้ผู้เข้าร่วมมีข้อเสนอของตนเองหลังพิจารณาทั้ง 6 รูปแบบแล้ว แต่ดูเหมือนพันธกิจนี้ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในห้องประชุมคือ ทุกคนต้องการคำอธิบายจากรูปแบบที่มีอยู่มากกว่า ทำให้เนื้อหาของการสนทนาจึงมุ่งไปที่รูปแบบการปอครองที่เห็นอยู่เบื้องหน้า
แม้ไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม หรือข้อสรุปในการเลือกรูปแบบใดแบบหนึ่งอย่างฟันธง แต่นานาทัศนะที่พรั่งพรูออกมาควรค่าแก่การจดบันทึกอย่างยิ่ง
กำนันใหญ่ดี ดือราแม กำนันตำบลโตะเ ด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส บอกว่า อยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนจริง ไม่เหมือนอย่างตนที่เป็นกำนัน แม้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แต่ก็ต้องอยู่ใต้คำสั่งของนายอำเภอ ดังนั้น จึงอยากให้นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนบ้าง
“ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอเขาไม่ยอมรับความคิดแบบนี้หรอก เขาบอกว่าให้ทำอย่างที่เป็นอยู่ให้ดีก่อนเถอะ” กำนันใหญ่ดีตัดพ้อ
“เชื่อว่ารัฐบาลฟังเสียงของ 200 เวที เพราะเป็นพลังเสียงที่มาจากทั้งคนพุทธ และมุสลิมในพื้นที่ คล้ายกับที่หะยี สุหลงเคยต่อสู้ คือ การต่อสู้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ครั้งนี้ต่างกับในอดีต คือ มีคนพุทธเข้ามาร่วมต่อสู้ด้วย มิหนำซ้ำ คนพุทธก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย โดยเฉพาะคนพุทธที่เป็นสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นคนระดับแนวหน้าที่ร่วมต่อสู้เรื่องนี้” กำนันจาก อ.สุไหงปาดีคนหนึ่งกล่าวอย่างมีความหวัง
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งจาก อ.สุไหงปาดี บอกว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองนั้น จะต้องดูให้ละเอียดรอบคอบว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร และต้องดูผลในระยะยาวด้วยว่าจะส่งผลอย่างไร รวมถึงวิธีการที่จะได้มาของผู้นำด้วย เช่น จะใช้วิธีการเลือกตั้ง หรือใช้ระบบชูรอฮ์ คือ ระบบการปรึกษาหารือในแบบอิสลามในการคัดเลือกผู้นำ ซึ่งอยู่ในกรอบหลักศรัทธาของคนในพื้นที่อยู่แล้ว
เขาเห็นว่าการคัดเลือกแบบซูรอฮ์นั้น ผู้ที่ไม่มีเงินก็สามารถลงแข่งขัน และมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ที่มีอำนาจทางการเงิน ในขณะที่การเลือกตั้งแบบสากลนั้น โอกาสของคนไม่มีเงินจะมีน้อยกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับประชาชนว่าต้องการแบบไหน ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไป
นายมนูญ รักมณี กำนันจาก ต.ผดุงมาตร อ.จะแนะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมเวทีแบบนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีที่รัฐให้โอกาสแก่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
“เวลาเรามองดูจังหวัดใหญ่ๆ ที่เจริญแล้ว เช่น เชียงใหม่ ต่างก็มีความต้องการที่จะปกครองตนเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่”
“3 จังหวัดของเราเป็นพื้นที่ที่โชคดี เพราะที่นี่มีทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินลิกไนต์ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จะทำอย่างไรที่พวกเราจะบริหารจัดการเองไม่ใช่ให้ส่วนกลาง สิ่งที่เราพูดกันวันนี้ ไม่ใช่เรื่องแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเรื่องจัดการตนเอง” กำนันมนูญกล่าว
หลากหลายเรื่องราวที่แลกเปลี่ยนกันในห้องประชุม อาจไม่มีบทสรุปนั้น นายอาหะมะ อับดุลดานิง กำนันตำบลผดุงมาตร อ.จะแนะ กล่าวปิดในช่วงท้ายว่า อยากให้ทุกคนรำลึกเสมอว่า การจัดเวทีนโยบายสาธารณะครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง เพราะอีกสิบปียี่สิบปีเราก็ไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำวันนี้จะยังคงอยู่ตลอดไป ปัญหาของเราวันนี้ที่คิดว่าทุกคนคงเห็นร่วมกัน คือ อำนาจไม่ชอบธรรม อำนาจของคนคนเดียวที่ครอบงำอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องกลับไปคิดเป็นการบ้าน
เวทีครั้งนี้ยังอยู่ในช่วงก้าวแรกๆ จากทั้งหมด 200 เวทีในชายแดนภาคใต้ คำตอบจากคำถามที่ว่า “ทำไมต้องคุยกันเรื่องกระจายอำนาจ” คงจะออกมาในเร็ววัน ซึ่งหวังว่าจะมาพร้อมกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลเพิ่มเติม : 200 เวที สู่ชายแดนใต้จัดการตนเอง
การจัดเวทีนโยบายสาธารณะ “ชายแดนใต้จัดการตนเอง” พลังการเมืองภาคประชาชน กำหนดอนาคตชายแดนใต้ รวม 200 เวที ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เกิดขึ้นหลังจากการจัดเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2555 โดยการสนับสนุนของสำนักงานปฏิรูป (สปร.)
งานดังกล่าวมีที่มาจากการที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2554 มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการในพื้นที่
ต่อมา คณะกรรมการชุดนี้นอกจากมีหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายเฉพาะ และกรอบประเด็นหลักในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปครั้งดังกล่าวแล้ว ยังมีหน้าที่ออกแบบกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหา และภูมินิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่
จากนั้น คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้แต่งตั้งคณะทำงานอีกชุด คือ คณะทำงานยุทธศาสตร์สนับสนุนการปฏิรูปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เป็นประธาน ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวนำมาสู่การความคิดในจัดเวทีสาธารณะ 200 เวทีดังกล่าว
ต่อมา ในช่วงเดือนมิถุนายน 2555 สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้จัดปฐมนิเทศทีมวิทยากรกระบวนการซึ่งเป็นตัวแทนภาคีเครือข่ายรวม 85 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นวิทยากรอาวุโส 20 คน ที่จะลงไปทำหน้าที่ในเวทีต่างๆ
ในการจัดเวทีสาธารณะทั้ง 200 เวทีดังกล่าว มีการขับเคลื่อนด้วยวิธีการ Public Deliberation หรือเรียกว่า เวทีประชาหารือ รวม 200 เวทีตลอดปี 2555 มีการนำเสนอรูปแบบ (โมเดล) ทางเลือกการปกครองท้องถิ่นพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 ตัวแบบ ในรูปของหนังสือคู่มือ หรือ Issue Book ชื่อว่า “ทางเลือกกลางไฟใต้ : เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?”
สำหรับคณะทำงานขับเคลื่อนทั้ง 200 เวที เพื่อรับฟังความเห็นเรื่องการกระจายอำนาจดังกล่าวจากประชาชนในพื้นที่หลากหลายกลุ่ม นำโดย พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้
นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานผลิตคู่มือ Issue Book นำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะบริหารของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ นำโดยนายประสิทธิ เมฆสุวรรณ ประธานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้
ส่วนวิทยากรกระบวนการ มาจากการเปิดรับสมัครจากนักศึกษาสถาบันต่างๆ ในพื้นที่ และตัวแทนจากภาคีเครือข่าย 11 องค์กร เช่น ศูนย์ฟ้าใส สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยสาขายะลา สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยสาขาปัตตานี เครือข่ายบัณฑิตเสริมสร้างการมีงานทำ ศูนย์อัลกุรอานและภาษา (QLCC) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) วิทยาลัยประชาชน เครือข่ายชุมชนศรัทธา กลุ่มยือรีงา สมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี และครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมรับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายความมั่นคง อีกทีมจะรับฟังความเห็นจากประชาชน และกลุ่มเฉพาะ เช่น สตรี เยาวชน เป็นต้น
ผลการรับฟังความเห็นทั้ง 200 เวที จะถูกนำไปวิเคราะห์สังเคราะห์อีกครั้ง ก่อนจะนำเสนอผลสรุปในเวทีสมัชชาฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 ในวันครบรอบ 9 ปีไฟใต้ วันที่ 4 มกราคม 2556