xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เข็น กม.จบ ม.6 ใน 8 เดือนเข้า ครม.30 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.เร่งดัน กม.รองรับจบ ม.6 ใน 8 เดือน เข้า ครม.หวังทัน 30 ต.ค.นี้ “พนิตา” เตรียมจี้ ก.พ.ร.หยิบเรื่องเสนอยกฐานะ กศน.เป็นแท่งที่ 6 ขององค์กรหลักเข้าพิจารณา
พนิตา กำภู ณ อยุธยา (แฟ้มภาพ)
นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้รับฟังปัญหาต่างๆ ของ กศน.โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการยกระดับทางการศึกษา ให้ประชาชนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภายใน 8 เดือน โดยตั้งเป้าว่าปีแรกจะต้องมีผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้เข้าเรียนต่อ และจบ ม.6 จำนวน 1.5 แสนคน แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวติดปัญหาเรื่องของกฎหมายที่รองรับเพื่อให้การปฏิบัติถูกต้อง ซึ่งทาง กศน.ได้เตรียมร่างกฎหมายไว้เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพราะหากเปิดรับสมัครไปแล้ว และมีผู้จบการศึกษาแต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับวุฒิที่ออกมาก็จะผิดกฎหมายขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา กศน.ได้เสนอร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และได้ปรับแก้ไขตามที่กฤษฎีกาแนะนำ คือ ปรับแก้อายุของผู้เรียนสมัครเรียน ที่เดิมกำหนดไว้อายุ 18 ปี ปรับเพิ่มเป็นอายุ 20 ปี เพราะเห็นว่าเป็นวัยที่มีวุฒิภาวะเหมาะสมรับผิดชอบตนเองได้ดี ดังนั้น จากนี้ ตนจะประสานไปยังสำนักเลขาคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเร่งรัดให้นำวาระดังกล่าวเข้า ครม.ภายในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ แต่หากไม่ทันจะเสนอเข้าสู่ ครม.ในสัปดาห์ถัดไป

“เกี่ยวกับการยกฐานะ กศน.ให้มีฐานะเป็นองค์กรหลักที่ 6 ของ ศธ.หรือแท่งที่ 6 ซึ่งดิฉันก็รับมาว่าจะไปติดตามและเร่งรัด และขณะนี้ ศธ.ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ไปให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาแล้ว แต่จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุด โดยอนุกรรมการจะต้องเชิญทาง ศธ.ไปให้ข้อมูลถึงความจำเป็นที่จะต้องยกระดับ กศน.ให้เป็นองค์กรหลัก ซึ่งหากผ่าน ก.พ.ร.และ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว คาดว่า จะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ได้ทันในการเปิดประชุมสมัยหน้า” นางพนิตา กล่าวและว่า ทั้งนี้ ตนได้มอบนโยบายให้ กศน.รับผิดชอบดูแลหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยขณะนี้ กศน.ได้ดำเนินโดยให้มีห้องเรียนภาษาอังกฤษ 1 ห้องในทุกศูนย์ แต่ตนขอให้เพิ่มเติม โดยเร่งพัฒนาครูไทยให้สอนเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ก็ขอให้หาครูที่เป็นคนประเทศเพื่อบ้านมาสอนภาษาของเขาให้คนไทยด้วย เพราะต่อไปเราต้องเปิดประเทศ จะได้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยความเข้าใจ และยังขอให้ กศน.ไปจัดทำหลักสูตรภาษาอังกฤษ เพื่อใช้สำหรับคนในอาชีพต่างๆ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น