สพฐ.ระดมความเห็นสอบ NT ทุกชั้นปี หวั่นนโยบายนี้เพิ่มภาระการสอบให้เด็กกดดันเด็กสู่ ร.ร.กวดวิชามากขึ้น “ชินภัทร” เผยหาจุดลงตัวเพื่อไม่ให้เด็กต้องกดดันจากการสอบ ผุดไอเดียพยายามทำให้ข้อสอบปลายภาคและข้อสอบ NT เป็นฉบับเดียวกัน
วันนี้ (18 ต.ค.) ที่โรงแรมเดอะรอยัลริเวอร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเสนาแนวทางการดำเนินการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT) เพื่อเชิญผู้เกี่ยวข้องมาสะท้อนความเห็นกรณีที่ สพฐ.เตรียมให้นักเรียน ป.1 ถึง ป.5 และ ม.1-2 ในสังกัดทุกคน เข้าสอบ NT เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยเบื้องต้นกำหนดกรอบไว้ว่า ระดับประถมศึกษาต้น จะประเมินใน 3 ด้าน คือ 1.การอ่านออกเขียนได้ 2.การคิดเลข และ 3.ความสามารถด้านการคิดและการให้เหตุผล ส่วน ป.4 และ ป.5 สอบ 5 วิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ส่วน ม.1 และ ม.2 สอบ 8 สาระวิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ การงานพื้นฐานะอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา และ วิชาศิลปะ
นายสุรัช ดวงชาทม ผอ.สพป.มหาสารคาม เขต 1 กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายของ สพฐ.ที่จะให้มีการสอบ NT ทุกชั้นปี เพราะจะได้รับรู้ถึงผลการพัฒนาผู้เรียนได้ทันท่วงที หากไปรอการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET ) ตอน ป.6 ม.3 และ ม.6 อาจช้าเกินไป ทำให้เสียโอกาส เสียเวลาในการพัฒนาผู้เรียน อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะต้องพิจารณาให้รอบครอบถึงวิธีการจัดสอบและผู้คุมสอบ ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.วางแผนนำผลการสอบ NT มาเชื่อมโยงกับการประเมินเลื่อนวิทยฐานะครู และผู้บริหารสถานศึกษา ตรงนี้อาจทำให้การคุมสอบเกิดความไม่ตรงไปตรงมา ลำเอียง เพราะฉะนั้น ต้องวางระบบการจัดสอบให้ดี และคิดให้รอบคอบ ว่า ใครจะเป็นผู้คุมสอบ
“ที่สำคัญ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนตั้งใจสอบด้วย มิฉะนั้น ผลทดสอบ NT ที่ได้ จะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาผู้เรียนได้จริง อย่างกรณีที่คะแนนสอบ O-Net ต่ำมาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการประเมินดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ถูกประเมินยกเว้น นร.ม.6 ที่ต้องนำคะแนน O-NET ไปใช้ในการสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้เด็กไม่ตั้งใจทำข้อสอบ แม้แต่ลูก ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ยังต้องขอร้องให้มาสอบ แต่ในอนาคตคะแนนคะ O-Net จะดีขึ้น เพราะสพฐ.มีนโยบายให้นำผลการสอบ O-Net มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินจบช่วงชั้น และใช้ในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ เพราะฉะนั้น สพฐ.ต้องมองในภาพเพื่อให้การประเมิน NT นั้น ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ถ้าผลการสอบ NT ที่ออกมา นำสู่การปรับหลักสูตรและการปรับการเรียนการสอน การสอนของครู ก็จะต้องดำเนินการตามความจำเป็นนั้นๆ” นายสุรัช กล่าว
นางอุดมลักษณ์ กูลศรีโรจน์ ครูภาษาอังกฤษชั้น ม.6 ของ ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นครู ม.6 ได้เห็นว่า นักเรียนไทยรับภาระการสอบมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อยากให้การสอบ NT ประเมินในสิ่งที่จำเป็นที่สุด มิฉะนั้นแล้ว การสอบที่มากเกินไปจะนำเด็กไปสู่การติว ไม่สนใจการเรียนในห้องเรียน สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-ป.3 นั้น เห็นด้วยที่จะไม่ประเมินเป็นรายวิชา เพราะอาจเกิดความผิดพลาด ออกข้อสอบไม่ตรงเป้าได้ เช่น ข้อสอบวิชาภาษาไทย อาจไปออกเรื่องวรรณคดี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินอ่านออกเขียนได้ ส่วนการประเมินช่วงชั้นอื่นๆ ซึ่งต้องสอบถึง 5 วิชา และ 8 วิชานั้น อาจมากเกินไปที่จะให้เด็กสอบ 5 วิชาทุกชั้นปีแล้วก็ต้องไปสอบ O-Net อีก 5 วิชาอีก เพราะฉะนั้น น่าจะมีเฉลี่ยสอบเพื่อไม่ให้เด็กสอบมากเกินไป มิฉะนั้น แล้วจะทำให้เด็กกดดัน
ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ยังไม่สรุปแน่นอนลงไปว่าแต่ละระดับชั้นจะสอบ NT ในวิชาใดบ้าง ส่วนที่มีความกังวลว่า การสอบ NT ทุกชั้นปี จะทำให้เด็กกดดันนั้น สพฐ.พยายามจุดที่ลงตัวอยู่ เพื่อไม่ให้เด็กมีความเครียดเกินไป แนวทางหนึ่ง สพฐ.พยายามทำให้ข้อสอบปลายภาค และข้อสอบ NT เป็นข้อสอบเดียวกัน เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึก ว่า ต้องรับภาระการสอบเพิ่มขึ้น แต่แนวคิดนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้