xs
xsm
sm
md
lg

ใช้ “อายไลเนอร์-มาสคารา” ร่วมกันเสี่ยงตาบอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เตือนห้ามใช้ “อายไลเนอร์-มาสคารา” ร่วมกัน เสี่ยงปนเปื้อนจุลินทรีย์ ทำตาอักเสบรุนแรงถึงขั้นตาบอด แนะปิดฝาให้สนิทหลังใช้และเก็บรักษาให้เหมาะสม

นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้สำหรับเขียนขอบตาเพื่อตกแต่งใบหน้าให้ดูสวยงามตามสมัยนิยม เช่น ผลิตภัณฑ์เขียนขอบตา (eyeliner) และสีแต่งขนตา (mascara) เพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีหลายรูปแบบทั้งชนิดของเหลว ครีม เจล แท่งอัดแข็ง และชนิดติดถาวร โดยมีส่วนประกอบของพิกเม้นท์ แอลกอฮอล์ โพลีเมอร์ สารกันเสีย และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติตามต้องการ ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารหนู เป็นต้น และหากกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐานก็อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ นอกจากกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐานแล้ว การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคได้เช่นกัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อควรตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เขียนขอบตาและสีแต่งขนตา ควรปิดฝาให้สนิทและเก็บรักษาในสถานที่เหมาะสม และที่สำคัญ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ร่วมกับบุคคลอื่น เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้ หากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และเข้าสู่ร่างกายทางตา สิว บาดแผลอื่นๆ หรือเข้ากระแสโลหิต ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อ ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) อาจทำให้ตาอักเสบรุนแรงถึงตาบอดได้

นางจุรีภรณ์ กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์เขียนขอบตาและสีแต่งขนตา จัดเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ดังนั้น ผู้ประกอบการผลิตหรือนำเข้า จะต้องมาจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เช่น ไม่มีสารห้ามใช้ประเภทโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารหนู และสีห้ามใช้ รวมทั้งต้องไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ได้แก่ ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus),แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) และคลอสติเดียม (Clostridium spp.) นอกจากนี้ต้องแสดงรายละเอียดบนฉลากของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ชื่อเครื่องสำอาง ประเภทหรือชนิดเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิต เป็นต้น

นางหรรษา ไชยวานิช ผู้อำนวยการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เขียนขอบตาและสีแต่งขนตา จำนวน 30 ตัวอย่าง จากร้านขายส่งเครื่องสำอางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม และ เขตดอนเมือง พื้นที่จังหวัดนนทบุรี และตลาดอำเภอบางบัวทอง โดยแบ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากถูกต้องและครบถ้วนจำนวน 22 ตัวอย่าง และตัวอย่างฉลากไม่ถูกต้องและ/หรือไม่ครบถ้วน จำนวน 8 ตัวอย่าง จากผลการทดสอบคุณภาพทั้งทางเคมีและทางจุลชีววิทยาในห้องปฏิบัติการ พบว่า ตัวอย่างที่มีฉลากถูกต้องและครบถ้วน พบเชื้อจุลินทรีย์สูงเกินกำหนดและพบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค คือ ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา จำนวน 1 ตัวอย่าง และตรวจพบตะกั่วในช่วง 6.3-14.7 ไมโครกรัมต่อกรัมแต่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน 16 ตัวอย่าง (กฎหมายอาเซียนด้านเครื่องสำอาง กำหนดให้ตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อกรัม) ส่วนอีก 15 ตัวอย่าง ไม่พบโลหะ และเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน สำหรับตัวอย่างที่มีฉลากไม่ถูกต้อง และ/หรือไม่ครบถ้วน ตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์สูงเกินกำหนดและพบตะกั่ว 7.2 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ตรวจพบตะกั่ว 11.6 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง และตรวจพบสารหนู 2.73 และ3.78 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง (กฎหมายอาเซียนด้านเครื่องสำอาง กำหนดให้สารหนูปนเปื้อนได้ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อกรัม) อีก 4 ตัวอย่างไม่พบโลหะและเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน

นอกจากนี้ ได้นำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานจำนวน 19 ตัวอย่าง ทำการทดลองใช้จริง 4 สัปดาห์ และทำการทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ พบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อ ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา ในตัวอย่างผลิตภัณฑ์เขียนขอบตา จำนวน 1 ตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า การเปิดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ จากสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น หลังการใช้ควรปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่เหมาะสม และไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น