xs
xsm
sm
md
lg

ปัด! อบสมุนไพรต้นเหตุเจ้าอาวาสมรณะ ชี้อบด้วยเตาถ่านเสี่ยงตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เตือนอบสมุนไพรเองด้วยเตาถ่านเสี่ยงตาย แนะใช้เตาไฟฟ้าปลอดภัยกว่า และไม่ควรอบนานเกิน 30 นาที ปัดสมุนไพรเป็นเหตุให้เจ้าอาวาสมรณภาพ ย้ำ คนป่วยมีไข้สูง มีโรคประจำตัว ไม่ควรอบสมุนไพร ยันลดอ้วนไม่ได้ “วิทยา” สั่ง สสจ.ทั่วประเทศให้ความรู้ และแนะนำมาตรฐานห้องอบสมุนไพร

วันนี้ (4 ต.ค.) นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณี พระครูรัตน พัชโรภาส หรือ หลวงพ่อชัย อายุ 64 ปี เจ้าอาวาสวัดศิริรัตนวนาราม (ท่าข้าม) จ.เพชรบูรณ์ ได้มรณภาพลงระหว่างอบสมุนไพรภายในห้องอบสมุนไพร ที่สร้างขึ้นเองในวัด เพื่อลดความอ้วน รักษาโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ส่วนพระลูกวัดมีอาการสาหัส นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งเบื้องต้นแพทย์เห็นว่า เกิดจากการขาดอากาศหายใจ และสมุนไพรอาจเป็นพิษ ว่า เบื้องต้นกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้ทำการตรวจสอบไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพชรบูรณ์ แล้ว พบว่า มีความสอดคล้องกับการรายงานข่าว คือ เจ้าอาวาสมีอาการป่วยเรื้อรัง แม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนใกล้วัด แต่ก็นิยมอบสมุนไพรด้วยตัวเองตลอด โดยการใช้เตาถ่านต้มสมุนไพร ซึ่งแพทย์ชันสูตรแล้วว่า มรณภาพเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้บริการอบสมุนไพรเป็นอย่างมาก ขอยืนยันว่า หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีบริการอบสมุนไพรมานานแล้ว และไม่เคยพบผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ส่วนกรณีของเจ้าอาวาสนั้นเกิดจากการใช้เตาถ่านต้มสมุนไพร ซึ่งต้องใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญ ทำให้ออกซิเจนเหลือน้อย มีคาร์บอนไดออกไซด์มาก จนขาดอากาศหายใจ นอกจากนี้ หากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย กล่าว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่ระบุว่าสมุนไพรอาจเป็นพิษนั้น คาดว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ซึ่งตนจะเดินทางไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง เพื่อดูว่าสมุนไพรที่ใช้นั้นเป็นสมุนไพรชนิดใด เพราะปกติสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้นั้น มักเป็นสมุนไพรก้นครัวที่รู้จักกันดี และนำมารับประทานเป็นปกติอยู่แล้ว โดยสมุนไพรที่นิยมนำมาอบนั้น แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม จะออกฤทธิ์เป็นน้ำมันหอมระเหย อาทิ ไพล ขมิ้นชัน 2.สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว ช่วยล้างสิ่งสกปรก อาทิ ใบมะขาม ฝักส้มป่อย 3.กลุ่มที่มีการระเหิดได้ อาทิ การบูร พิมเสน และ 4.สมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรค อาทิ เหงือกปลาหมอ เป็นต้น

นพ.สมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการอบสมุนไพรด้วยตัวเองที่ถูกวิธีนั้น ควรใช้เตาไฟฟ้ามากกว่าเตาถ่านที่ก่อให้เกิดควัน แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องของไฟฟ้าช็อต ส่วนเวลาในการอบสมุนไพรไม่ควรเกิน 30 นาที และไม่ควรอบภายในครั้งเดียว แต่ต้องแบ่งอบเป็นช่วงๆ เช่น คนที่ไม่เคยอบสมุนไพรมาก่อน ไม่ควรอบนานเกิน 10 นาที ต้องออกมาพักดื่มน้ำแล้วจึงกลับเข้าไปอบต่ออีกครั้งหนึ่ง ส่วนคนที่เคยอบมาก่อนแล้วอาจแบ่งเป็นช่วงละ 15 นาทีแล้วจึงพัก

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่ไม่ควรอบสมุนไพร คือ คนที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด โรคไต โรคลมชัก และมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีรายงานการเสียชีวิตจากการอบสมุนไพรมาแล้ว 1 ราย รวมรายนี้เป็น 2 ราย แต่ไม่ใช่การเสียชีวิตจากสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า การอบสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งหลักในการต้มอบสมุนไพรนั้น เพื่อให้ไอหรือควันสัมผัสร่างกายใน 2 ส่วน คือ 1.ผ่านผิวหนัง และ 2.การหายใจ ซึ่งฤทธิ์ของสมุนไพรจะช่วยในเรื่องของระบบไหลเวียนโลหิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งสมุนไพรหลักๆ ที่นิยมใช้มีประมาณ 7-8 ชนิด อาทิ ไพล ขมิ้นชัน ใบมะกรูด เป็นต้น ส่วนกรณีที่มีความเชื่อว่าการอบสมุนไพรช่วยลดความอ้วนได้นั้น เนื่องจากระหว่างการอบสมุนไพร ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ น้ำหนักจึงลดลงไป แต่หลังจากอบเสร็จแล้วใช้ชีวิตตามปกติก็จะกลับมามีน้ำหนักเท่าเดิม จึงไม่ใช่วิธีในการลดความอ้วนตามที่เชื่อกัน

ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตนได้ให้ สสจ.ทุกแห่งเร่งให้ความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการและ ประชาชนที่ต้องการสร้างห้องอบสมุนไพรใช้เอง ให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ สธ.ยังมีนโยบายให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทุกระดับ จัดบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งบางแห่งจะมีบริการนวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลหญิงหลังคลอด และบำบัดรักษาโรคบางชนิด เช่น บรรเทาอาการปวดเมื่อย รักษาโรคภูมิแพ้ หอบหืดระยะที่อาการไม่รุนแรง เป็นต้น

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ก่อนอบสมุนไพร ผู้รับบริการจะต้องได้รับการประเมินสุขภาพจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ผ่านการอบรม หรือนักการแพทย์แผนไทย รวมทั้งในการสร้างห้องอบสมุนไพร จะต้องได้มาตรฐาน ที่น่าห่วงคือ ปัจจุบันนี้พบว่ามีการโฆษณาหรือบอกกันปากต่อปากว่าการอบสมุนไพรจะช่วยลดน้ำหนักได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ประชาชนในการอบสมุนไพรที่ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น