xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง สคร.-สสจ.เฝ้าระวังโรคและให้ความรู้การป้องกันโรคกับ ปชช.พื้นที่น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอพรเทพ” ลงพื้นที่สุโขทัย ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม สั่ง สคร.-สสจ.ติดตามความพร้อมของระบบเฝ้าระวังโรค และให้ความรู้ประชาชนป้องกันโรคใน 3 ระยะ เน้นป้องกันการจมน้ำและไฟดูด

วันนี้ (12 ก.ย.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมในชุมชนตลาดและชุมชนราชธานี จ.สุโขทัย ว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ พบประชาชนจำนวนมากต้องอาศัยภายในบ้านของตนเองที่มีน้ำท่วมขังในปริมาณมาก นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนหนึ่งที่ประสบภัย จึงสั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 9 พิษณุโลก ที่รับผิดชอบพื้นที่ประสบภัย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สุโขทัย เก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเตรียมยาสำรองสำหรับผู้ป่วยในแต่ละโรค เพราะหากผู้ป่วยขาดยา หรือมีความเครียด อาจทำให้โรคกำเริบมากขึ้นหรือมีความรุนแรงมากกว่าปกติ และเฝ้าระวังโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม โดยเน้น 7 โรคหลัก คือ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) และโรคไข้เลือดออก รวมทั้งดำเนินการสนับสนุนการเฝ้าระวังโรคและดูแลในเรื่องอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ สุขาภิบาลและการป้องกันแมลงพาหะนำโรค นอกจากนี้ คร.ได้นำเวชภัณฑ์ป้องกันโรค ยาสามัญประจำบ้าน เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ผงน้ำตาลเกลือแร่ รวมจำนวน 1,000 ชุด รวมถึงรองเท้าบูทเพื่อป้องกันเชื้อโรค มามอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ด้วย

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า จากบทเรียนเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 พบว่า อันตรายที่สำคัญมากในช่วงน้ำท่วม คือ การจมน้ำและไฟฟ้าดูด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 - 12 มกราคม 2555) มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม จำนวน 1,083 ราย สาเหตุอันดับ 1 ได้แก่ การจมน้ำ จำนวน 901 ราย (83%) อาทิ การหาปลา เรือพลิกคว่ำ/ตกเรือ เมาสุรา เป็นต้น ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีถึง 99 ราย รองลงมาคือไฟฟ้าดูด จำนวน 153 ราย (14%) พบสูงสูดเกิดในบ้านหรือบริเวณบ้าน เพราะฉะนั้น ในสองสาเหตุนี้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ต้องประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนถึงวิธีป้องกันตนเองและคนในครอบครัว

“ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำ แม้น้ำจะตื้น ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และเตรียมเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม ส่วนผู้ใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ หากต้องออกหาปลาต้องเพิ่มความระวัง และมีอุปกรณ์ชูชีพติดตัวหรือไว้ในเรือเสมอ ไม่ควรขับรถฝ่ากระแสน้ำไหลเชี่ยว หรือขณะฝนตกหนัก ไม่ควรดื่มของมึนเมาทุกชนิด ส่วนกรณีช่วยเหลือคนจมน้ำ ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดดเพื่อให้น้ำออก เนื่องจากเป็นน้ำที่ออกมาจากกระเพาะไม่ใช่ปอด จะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้นและเสียชีวิต วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องคือ ให้ขอความช่วยเหลือและวางคนที่จมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปากและช่วยให้หายใจได้เร็วที่สุดโดยวิธีการผายปอด และเป่าลมเข้าทางปากติดต่อกันหลายๆ ครั้ง ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้นวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอก ลึกประมาณ 1-1.5 นิ้ว จำนวน 100 ครั้งต่อนาที และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทร.แจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า กรณีน้ำท่วมบ้านให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยยกสะพานไฟขึ้น ย้ายสวิตช์ไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด หากเป็นบ้าน 2 ชั้น ควรตัดกระแสไฟฟ้าชั้นล่างของบ้าน และให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ชั้นบนของบ้านเท่านั้น ห้ามใช้และสัมผัส สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะที่ตัวเปียกชื้น หรือขณะยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะหรือตัวแช่อยู่ในน้ำ และห้ามเข้าใกล้หรือจับต้องสายไฟฟ้าที่ขาดหรืออุปกรณ์ที่แช่น้ำเด็ดขาด ขอให้อยู่ห่างจากบริเวณที่คาดว่าจะมีไฟฟ้ารั่วในน้ำอย่างน้อย 3 เมตร สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดต้องให้ผู้ป่วยนอนราบ ถ้าไฟฟ้าดูดและล้มจมน้ำต้องพลิกตัวให้น้ำออกจากตัว จากนั้นจัดท่าที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก ปลดเสื้อผ้าให้หลวม นำผ้ามาห่มให้ร่างกายอบอุ่น รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร.1669 โดยด่วนเช่นกัน

“คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ประสบอุทกภัย โดยกำหนดหลักง่ายๆ ในการป้องกันโรคเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะน้ำท่วมหลาก ให้ระวังอันตรายจากการจมน้ำ ไฟฟ้าดูด และสัตว์มีพิษกัด 2.ระยะน้ำท่วมขัง ให้ระวังอันตรายจากโรคฉี่หนู ไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วง และ 3.ระยะน้ำลด ให้ระวังอันตรายจากโรคไข้เลือดออก และการทำความสะอาดบ้านเรือน ถ้าประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดี คร.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น