xs
xsm
sm
md
lg

ชี้พฤติกรรม “นั่งยอง-พับเพียบ-ขัดสมาธิ-ไขว่ห้าง” ทำคนไทยป่วยข้อเข่าเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบคนไทย 1 ใน 3 ป่วยโรคข้อ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อม แถมไม่จำกัดอายุ ชี้เกิดจากพฤติกรรม “นั่งยอง-พับเพียบ-ขัดสมาธิ-ไขว่ห้าง” สธ.ตั้งเป้าเปลี่ยนโถส้วมตามบ้านเรือนจากนั่งยองเป็นแบบห้อยขาให้ได้ 100% ในปี 2558

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ส้วมห้อยขา แทนใช้ส้วมนั่งยอง ปลดทุกข์ ตั้งเป้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ทุกบ้านในปี 2558 ส่วนในสถานที่สาธารณะจะเริ่มเปลี่ยนที่ปั๊มน้ำมัน และสถานบริการสาธารณสุขก่อน เพื่ออนามัยผู้สูงวัย ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2558 ชี้ มีผลดีป้องกันและชะลอการเสื่อมข้อเข่าได้ เผยขณะนี้พบคนไทยป่วยโรคข้อเสื่อมกว่า 6 ล้านคน มีทั้งคนวัยหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เหตุสำคัญเกิดจากการใช้ส้วมนั่งยองเป็นเวลานาน อ้วนโรคนี้หากเป็นแล้วรักษาไม่หาย

วันนี้ (4 ต.ค.) ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการแถลงข่าว “โครงการปลดทุกข์ด้วยรอยยิ้ม โถห้อยขาเสริมสุขผู้สูงวัย” พร้อมรับมอบโถส้วมห้อยขาจากมูลนิธิเอสซีจี จำนวน 840 โถ มูลค่า 1.3 ล้านบาท เพื่อมอบให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อม ว่า ขณะนี้คนไทยใช้ส้วมนั่งยองในบ้านเรือนมาถึงร้อยละ 86 หรือประมาณ 17 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การใช้ส้วมนั่งยองมีผลเสียต่อสุขภาพ โดยผิวข้อเข่าจะเสียดสีกันมาก ทำให้เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งโรคนี้เป็นแล้วจะทุกข์ทรมาน รักษาไม่หายขาด ลุกนั่งเดินลำบาก กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน มูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิเอสซีจี และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รณรงค์ให้คนไทยใช้ส้วมชนิดเป็นโถนั่ง (ส้วมห้อยขา) ซึ่งถูกสุขลักษณะ ไม่ก่อผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แทนการใช้ส้วมนั่งยอง และส่งเสริมให้มีส้วมแบบโถห้อยขาใช้ในบ้านและสถานที่สาธารณะ

นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า สธ.ตั้งเป้าให้บ้านเรือนใช้ส้วมชนิดเป็นโถนั่ง ร้อยละ 50 ในปี 2556 และครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2558 ส่วนสถานที่สาธารณะให้มีร้อยละ 90 ภายในปี 2558 โดยในปีแรกมีเป้าหมายพัฒนาส้วมสาธารณะในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง โรงพยาบาล และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยใช้บริการ เพื่อขานรับวันอนามัยโลกประจำปี 2555 ซึ่งให้ความสำคัญในการพิทักษ์ผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี และมีอายุยืน

“การรณรงค์ดังกล่าวจะเน้นหลายเรื่องร่วมกัน ทั้งการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการลดน้ำหนักตัว การบริหารข้อเข่า การนั่งบนเก้าอี้ที่สูงระดับเข่า เพื่อลดปัญหาป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม และขอความร่วมมือจากผู้ผลิตโถส้วมให้จำหน่ายในราคาพิเศษต่ำกว่าท้องตลาด หรือในราคาต้นทุน เพื่อให้ประชาชนทุกฐานะสามารถซื้อหาไปใช้ได้” รมช.สาธารณสุข กล่าว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ส้วมนั่งห้อยขามีความปลอดภัยกว่าส้วมนั่งยอง ลุกนั่งสบาย เหมาะกับประชาชนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้สังคมไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 7.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.3 ของประชากรทั้งประเทศ โดยในปี พ.ศ.2568 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย โรคที่พบมาก คือ โรคข้อเข่าเสื่อม ล่าสุด ข้อมูลจากมูลนิธิโรคข้อพบคนไทยเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบในคนอายุ 45-50 ปีได้เช่นกัน โดยสาเหตุที่ทำให้คนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากภาวะอ้วน การนั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ หรือได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า เป็นต้น

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการขับถ่ายของคนไทยในปี 2553 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการนั่งส้วม ประมาณ 5-10 นาที การใช้ส้วมนั่งยองติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมสภาพเรื่อยๆ และจะชัดเจนเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากการนั่งยองๆ ทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขาถูกกดทับเลือดไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงจะมีอันตรายสูง อาจทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงได้ โดยโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงทำให้อาการทุเลาลงได้ด้วยให้กินยาแก้ปวด หรือการผ่าตัดถือว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุโดยเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด ครั้งละประมาณ 85,000-150,000 บาทต่อราย

ด้าน ภญ.กุสุมา ไตรวิทยานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโรคข้อฯ กล่าวว่า จากสถิติพบคนไทย 1 ใน 3 มักจะป่วยด้วยโรคข้อ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งพบได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้จำกัดว่าเป็นโรคเฉพาะของผู้สูงอายุแล้วเท่านั้น แต่สามารถพบได้ทุกวัย เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากพฤติกรรม โดยคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี พบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเพียงร้อยละ 1 อายุน้อยกว่า 40 ปี พบร้อยละ 10 และอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบมากถึงร้อยละ 50

ภญ.กุสุมา กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่สามารถก่อให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้นั้นมีมาก ทั้งการนั่งที่ไม่ถูกวิธี ทำให้ปวดหลัง ปวดไหล่ อาทิ การนั่งยอง น่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งไขว่ห้าง ซึ่งจะกลายเป็นการทำร้ายข้อโดยไม่รู้ตัว ทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น อาการที่สังเกตได้ชัดว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมคือ นั่งยองแล้วไม่สามารถลุกขึ้นได้ ดังนั้น คนไทยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดข้อเข่าเสื่อม
กำลังโหลดความคิดเห็น