“วิทยา” ประชุมคอนเฟอเรนซ์ สั่ง รพ.30 จังหวัด เสี่ยงเตรียมรับมือพายุแกมี 5-8 ต.ค.นี้ เผย เตรียมป้องกัน 4 โรงพยาบาล ใน 6 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วมสูงจากเขื่อนลำพระเพลิงแล้ว มั่นใจรับมือสถานการณ์ได้ ด้าน ปลัด สธ. มอบ 6 มาตรการ สสจ.ป้องกันแก้ปัญหาน้ำท่วม
วันนี้ (4 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 30 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุแกมี (GAEMI) เพื่อติดตามความพร้อมการรับมือผลกระทบในช่วงวันที่ 5-8 ต.ค.นี้ ว่า การรับมือในครั้งนี้แบ่งกลุ่ม 30 จังหวัด ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเสี่ยงสูง มี 6 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา จันทบุรี และ ตราด มีโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกน้ำท่วมสูง 4 แห่ง ได้แก่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ปักธงชัย และ รพ.สต.ลาดยาว จ.นครราชสีมา ที่อาจได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งขณะนี้ทุกแห่งได้เตรียมการป้องกันสถานพยาบาลไว้แล้ว และ 2.กลุ่มเฝ้าระวัง มีทั้งหมด 24 จังหวัด ได้ เน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้วอร์รูมน้ำท่วมที่ สธ.ได้ติดตามประเมินสถานการณ์ เพื่อสั่งการเบื้องต้นและเป็นจุดประสานงานให้การสนับสนุนจังหวัดต่างๆ โดยได้ส่งยาชุดน้ำท่วมและยาตำราหลวงแก่จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 218,500 ชุด และเตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันโรค อาทิ ยาชุดน้ำท่วม ยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า เซรุ่มแก้พิษงู คลอรีน ทรายกำจัดลูกน้ำ รองเท้าบูต ถุงดำ ไว้อย่างเพียงพอ พร้อมให้การสนับสนุนตามที่จังหวัดร้องขอ
“การดำเนินงานเป็นไปในลักษณะของการเตรียมความพร้อม และการเฝ้าระวัง เนื่องจากสถานการณ์จริงยังไม่เกิดขึ้น โดยได้กำชับหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ รวมไปถึงเรื่องของ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมั่นใจว่าสามารถรับมือพายุแกมีได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดมี 6 ข้อ ได้แก่ 1.จัดตั้งวอร์รูมจังหวัดเป็นศูนย์สั่งการ ประสานงาน ติดตามกำกับการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ 2.ให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพทั้งกายและจิต 3.เตรียมยา เวชภัณฑ์ พาหนะ และเครือข่ายสื่อสาร ทีมแพทย์กู้ชีพ ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือ ทีมเมิร์ต (Medical Emergency Response Team: MERT) พร้อมปฏิบัติการตลอด24 ชั่วโมง จัดบริการกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช หญิงตั้งครรภ์
4.ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรค 5.ให้ป้องกันน้ำท่วมสถานบริการ สำรวจจุดเสี่ยงต่างๆ และสำรองยาเวชภัณฑ์ ให้มีใช้เพียงพอ ปรับแผนบริการประชาชนทุกรูปแบบและแผนการส่งต่อผู้ป่วย โดยให้เจ้าหน้าที่เตรียมป้องกันบ้านเรือนตนเอง อพยพครอบครัวไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อลดความห่วงพะวงในการทำงานช่วยเหลือประชาชน และ6.เตรียมการฟื้นฟูหลังน้ำลด สร้างความปลอดภัย ความมั่นใจแก่ประชาชน
“ผลจากน้ำท่วมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีสถานพยาบาลในสังกัดปิดบริการ 1 แห่ง คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี น้ำเข้าตัวอาคารสูง 60 เซนติเมตร ได้ย้ายจุดไปให้บริการในจุดที่ประชาชนมารับบริการสะดวก โดยมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทุกวัน สรุปมีผู้ป่วยทั้งหมด 41,649ราย ส่วนใหญ่ปวดศีรษะ น้ำกัดเท้า และไข้หวัด ด้านสุขภาพจิตพบผู้มีความเครียดสูง 139 ราย ซึมเศร้า 64 ราย ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของจิตแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้ง อสม.ในพื้นที่” ปลัด สธ.กล่าว