xs
xsm
sm
md
lg

พบรอยเลื่อนจ่อเข้ากรุง สุดเสี่ยง! อาคาร กทม.มีสิทธิ์ถล่มจากธรณีพิโรธมาก 2 ล้านหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! อาคารใน กทม.ไม่ปลอดภัยกว่า 2 ล้านหลัง รับแรงแผ่นดินไหวไม่ได้เลย 1 ล้านหลัง นักวิชาการจี้เสริมโครงสร้างโดยเฉพาะอาคารสาธารณะสำคัญ หลังธรณีวิทยาพบรอยเลื่อนมีพลังที่นครนายก จ่อเข้าใกล้ กทม.มากขึ้น ส่วนการรับมือน้ำท่วม ซัด รบ.ทำสวนทาง อยากระบายน้ำแต่กลับถมคูคลอง ชี้ สร้างเจ้าพระยา 2 เป็นเรื่องเพ้อฝัน แนะทำโครงสร้างระบายน้ำใต้ดิน เป็นกล่องแบบโครงสร้างทางด่วนบางนา-บางปะกง แก้ปัญหาเวนคืนที่ดินประชาชน ด้าน อ.นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สอน รบ.ทำสื่อสารสาธารณะขณะเกิดภัยพิบัติ ต้องตั้งทีมมอนิเตอร์สื่อ สังเกตการรับข้อมูลของประชาชน ชี้ อย่ารอแต่แถลงข่าวอย่างเดียว ส่วนสื่อมวลชนอย่าบีบคั้นน้ำตาแหล่งข่าว และต้องตามประเด็นต่อหลังเกิดภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและพัฒนา
ศ.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันนี้ (3 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุม 201 อาคารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวระหว่างการสัมมนาวิชาการ “การบริหารจัดการสาธารณะในภาวะวิกฤตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ว่า ภัยธรรมชาตินำมาซึ่งความสูญเสีย แต่ขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งบทเรียนอันล้ำค่า ก่อให้เกิดการวิจัยและเรียนรู้การแก้ปัญหาในอนาคต ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้นั้น จะต้องรู้ต้นตอของภัยธรรมชาติเสียก่อน โดยสาเหตุสำคัญนั้นส่วนหนึ่งมาจากมนุษย์ อาทิ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยที่เกิดขึ้นถี่กว่าในอดีต เป็นเพราะมีการขยายตัวเมืองเข้าไปใกล้รอยเลื่อนมากขึ้น การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก สูญเสียพลังงานมากขึ้น การปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านเรือนลงสู่แม่น้ำ รวมไปถึงการบุกรุกแม่น้ำและชายหาด โดยการก่อสร้างขวางทางน้ำ เป็นต้น

ศ.ปณิธาน กล่าวอีกว่า ส่วนสิ่งที่น่ากังวล คือ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เราไม่ทราบจนอาจนำมาซึ่งภัยพิบัติ อย่างกรณีภูเขาไฟระเบิดใต้ธารน้ำแข็งเมื่อปีที่แล้วนั้น นักวิทยาศาสตร์โลกไม่ได้มีการออกมาเตือนใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่ออกมาระบุว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นสูงปีละเท่าใดๆ นั้น ถือว่าผิดทั้งหมด เนื่องจากไม่มีการคำนึงถึงเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดใต้ธารน้ำแข็งมาก่อน

ศ.ปณิธาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น ต้องอาศัยกรอบการดำเนินงานเฮียวโงะ (Hyogo) ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมการจัดการภัยพิบัติเมื่อปี 2548 ภายหลังครบรอบ 10 ปี การเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 17 ม.ค.2538 ที่เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น จนเกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรอบการดำเนินงานเฮียวโงะนั้น จะเน้นในเรื่องของการปฏิบัติและการป้องกัน โดยต้องมีการเสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารต่างๆ ทั้งบ้าน อาคารโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสาธารณะที่สำคัญ อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น เพื่อให้รองรับการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ การสร้างอาคารใหม่จะต้องถูกต้องตามหลักการรองรับแผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ จะต้องมีการเสริมสมรรถภาพขีดความสามารถทรัพยากรมนุษย์ และรัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ถูกต้องในการรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย คือ ประเทศเฮติ ที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งที่มีการเกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จนเมื่อประมาณปี 2553 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ขึ้น แม้แต่ทำเนียบประธานาธิบดียังพังทลาย ตึกบัญชาการต่างๆ ก็พัง ทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นในประเทศ ซึ่งตรงนี้ยูเอ็นได้มีการณรงค์ One Million Safe โดยโรงพยาบาลต้องปลอดภัยจากภัยพิบัติ มีระบบสนับสนุนต่างๆ อาทิ ไฟฟ้าฉุกเฉิน และบุคลากรต้องได้รับการฝึกฝน สามารถจัดการกับภาวะฉุกเฉินได้ เป็นต้น” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมฯ กล่าว

ศ.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า หลักการสำคัญอีกประการในการจัดการและรับมือกับภัยพิบัตินั้น คือ ระบบรับมือ “Resilience” ซึ่งเป็นความสามารถของระบบชุมชนหรือสังคม ที่เผชิญภับพิบัติทางธรรมชาติแล้วสามารถต้านทานได้ มีการฟื้นตัวจากผลกระทบได้ในเวลาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วย ส่วนมาตรการบรรเทาภัยพิบัตินั้น ที่สำคัญมีอยู่ 5 มาตรการด้วยกันคือ 1.การเตรียมพร้อมด้านอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน 2.การเตรียมพร้อมระบบเพื่อการบรรเทาภัย เช่น ระบบคมนาคมฉุกเฉิน 3.มาตรการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย 4.มาตรการด้าน Capacity Building และนวัตกรรมการแก้ปัญหา และ 5.มาตรการด้าน Emergency Response

ศ.ปณิธาน กล่าวว่า ในเรื่องการเตรียมพร้อมด้านอาคารและโครงสร้างพื้นฐานนั้น สำหรับในประเทศไทยมีการออกกฎหมายให้มีการออกแบบอาคารให้สามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อปี 2550 แม้ก่อนหน้าจะไม่มีการออกแบบให้รองรับการเกิดแผ่นดินไหว แต่เชื่อว่าสามารถรองรับได้ในระดับหนึ่ง โดยต้องมีการพิจารณาเสริมความแข็งแรงของอาคารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้นให้ปลอดภัย

ใน กทม.มีอาคารประมาณ 2 ล้านหลัง ที่ไม่ปลอดภัยต่อการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในจำนวนนี้มีประมาณ 1 ล้านหลัง ที่ไม่สามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้เลย ดังนั้น จำนวนอาคารที่มีมากเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเลือกปรับปรุงเสริมความแข็งแรง โดยเลือกอาคารสาธารณะที่สำคัญ อาคารโครงสร้างพื้นฐาน ทางด่วน สะพาน โรงไฟฟ้า ประปา สถานีดับเพลิง หรือโรงพยาบาลก่อน เพราะขณะนี้ทราบจากสำนักธรณีวิทยาว่า มีรอยเลื่อนมีพลังเข้าใกล้ กทม.มากขึ้น โดยอยู่ที่ จ.นครนายก แต่จะมีความรุนแรงเท่าไรนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้” ศ.ปณิธาน กล่าว

ศ.ปณิธาน กล่าวเพิ่มอีกว่า ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องไม่แน่นอน เนื่องจากมีตัวแปรมากมาย สิ่งสำคัญคือ การเตรียมพร้อมด้านการบรรเทาภัย อย่างกรณีน้ำท่วม รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากในการศึกษาน้ำท่วมเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีการเสนอมาตรการสำคัญในการแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือการขุดคลองทำแม่น้ำเจ้าพระยา 2 เนื่องจากระบบระบายน้ำธรรมชาติไม่สามารถรับน้ำขณะเกิดพายุมากๆ ได้ ต้องมีระบบระบายน้ำเพิ่มเติม แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ และทำในทิศทางตรงกันข้ามคือการถมคูคลองต่างๆไปจนหมด ซึ่งการจะมาแก้ไขด้วยงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาทไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้

เลิกฝันได้เลยกับการสร้างแม่น้ำเจ้าพระยา 2 มันเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องมีการเวนคืนที่ดินมาก ทำอย่างไรระบบระบายน้ำก็ไม่พอ เพราะคูคลองต่างๆถูกถมไปนานแล้ว ผมเคยเสนอวิธีการแก้ปัญหา แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ จึงไม่มีใครฟัง ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรโครงสร้าง จึงนึกถึงการแก้ปัญหาด้วยการนำโครงสร้างทางด่วนที่มีลักษณะเป็นกล่องอย่างช่วง บางนา-บางปะกง เอามาวางให้ต่ำกว่าระดับพื้นดิน เพื่อใช้ระบายน้ำส่วนด้านบนก็ถมดิน ชาวนาก็สามารถทำไรทำนาต่อไปได้โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เท่ากับว่าเรามีคลองระบายอยู่ข้างล่าง ขนาดไม่ต้องใหญ่แต่ทำเป็นร่างแหอยู่ข้างล่างไปทั่วประเทศได้” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมฯ กล่าว
น.ส.สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น.ส.สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การสื่อสารสาธารณะในช่วงของการเกิดภับพิบัตินั้น รัฐบาลต้องมีการตั้งศูนย์สารนิเทศ ที่ไม่ใช่รอเพียงการแถลงข่าวอย่างเดียว แต่ต้องเป็นศูนย์ที่พร้อมให้ข้อมูลตลอดเวลา เมื่อผู้สื่อข่าวมีข้อสงสัยสามารถถามแล้วได้คำตอบที่ต้องการ แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลรอการแถลงข่าวเพียงอย่างเดียว มองสื่อไว้เพียงรองรับการแถลงข่าวเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการตั้งทีมมอนิเตอร์สื่อ ประเมินสถานการณ์แต่ละวันว่า ประชาชนกำลังเสพข้อมูลอะไร สาธารณชนกำลังสับสนในข้อมูลเรื่องอะไรหรือไม่ หรือมีข่าวลืออะไรเกิดขึ้น เพื่อที่จะสามารถชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจได้

น.ส.สุภาพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของสื่อมวลชนนั้น อยากฝากให้คำนึงถึงความเปราะบางทางจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบให้มาก เนื่องจากเขาเป็นผู้สูญเสียไม่ควรไปตอกย้ำคั้นถามเพื่อให้ข่าวดูสะเทือนอารมณ์ยิ่งขึ้น เช่น การพยายามซักหาลูกหลานที่หายไปกับสึนามิเจอหรือยัง เป็นต้น ไม่ควรกระทำ เพราะการออกข่าวให้เห็นน้ำตาหรือความฟูมฟายไม่ใช่เรื่องที่ดี อยากให้ใส่หัวใจและมองในมิตินี้ด้วย จึงจะไม่เป็นการเพิ่มผลกระทบโดยไม่รู้ตัว

น.ส.สุภาพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เรื่องของการรายงานข่าวภัยพิบัตินั้น ในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศให้ดูเป็นภาวะวิกฤติไปก่อน เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกแฝงอยู่ในสังคม แต่ควรรายงานให้สังคมรับรู้ความเสี่ยง มากกว่ารู้สึกถึงความวิกฤติ ขณะที่ช่วงหลังเกิดภัยพิบัติไปแล้ว เนื่องจากข่าวไม่มีความสด หรืออาจเกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมาแทน ทำให้ไม่มีการรายงานข่าวหลังภัยพิบัติมากนัก แต่การรายงานข่าวหลังภัยพิบัติถือเป็นส่วนสำคัญ เช่น เวทีถอดบทเรียนน้ำท่วม เป็นต้น ที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาและนำไปสู่การแก้ปัญหามากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น