xs
xsm
sm
md
lg

พบคนไทยในต่างแดนมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 30

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ. เผยคนไทยกว่า 1 ล้านคนที่ใช้ชีวิตในต่างแดนหลายประเทศ ประมาณร้อยละ 30 เผชิญปัญหาสุขภาพจิต สาเหตุหลักเป็นเรื่องการปรับตัว เร่งช่วยเหลือ โดยร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศ จัดอบรมอาสาสมัครสุขภาพจิตเพื่อเป็นที่พึ่งเบื้องต้นและหนุนให้คนไทยในต่างแดนตั้งชมรม สมาคม ช่วยเหลือกันในหมู่คนไทย และเพิ่มการสื่อสารทางไกล เชื่อมโยงกลุ่มคนไทยได้พูดคุยปรึกษากันจะช่วยแก้ปัญหาได้

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงคนไทยที่ใช้ชีวิตในต่างแดน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเยอรมนี ออสเตรเลีย ไต้หวัน อิสราเอล เป็นต้น ไม่ว่าจะไปศึกษาต่อ ทำงาน หรือมีครอบครัวกับชาวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน หากเจ็บป่วยทางกายก็อาจขอรับการบำบัดรักษาจากแพทย์ชาวต่างประเทศได้ไม่ยาก แต่หากเป็นปัญหาทางจิตใจ ชาวไทยกลุ่มนี้หาที่ปรึกษายาก หากป่วยจะยุ่งยากในการบำบัด เนื่องจากต้องอาศัยการพูดคุย ปรึกษาปัญหากันแบบส่วนตัว อาศัยภาษาไทยเป็นพื้นฐาน โดยที่ผ่านมาพบคนไทยในต่างประเทศ มีปัญหาสุขภาพจิตประมาณร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปรับตัวในการดำเนินชีวิตเข้ากับสังคมที่พำนักอาศัย เช่น การสื่อสาร ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและสังคมท้องถิ่น การเลี้ยงดูบุตรข้ามวัฒนธรรม ปัญหาครอบครัวกับคู่สมรสต่างชาติ และปัญหาส่วนตัวก่อนเดินทาง ทำให้เกิดความเครียด ความกดดัน ไม่สามารถไปปรึกษาใครได้ ต้องอยู่อย่างอมทุกข์ บางรายรุนแรงเกิดภาวะซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากขาดผู้ให้คำแนะนำปรึกษาที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อลดความทุกข์และเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่ชาวไทยให้ทั่วถึง กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการสร้างอาสาสมัครดูแลสุขภาพจิตชาวไทย เพื่อให้เป็นที่พึ่งและเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาที่เหมาะสมแก่ผู้ที่มีปัญหาในเบื้องต้น จะช่วยคลี่คลายความเครียด ความวิตกกังวล สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ดีกว่า โดยจัดส่งทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา จากกรมสุขภาพจิตไปฝึกอบรมความรู้และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายคนไทย ในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข การเลี้ยงดูบุตร การให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ เริ่มแห่งแรกที่เมืองทูบิงเง่น สาธารณรัฐเยอรมนี จำนวน 33 คน และให้ความรู้สุขภาพจิตแก่คนไทยที่วัดพุทธปิยวราราม เมืองแฟรงก์เฟิรต์ จำนวน 43 คน ซึ่งในสาธารณรัฐเยอรมนีมีชาวไทยอาศัยอยู่ประมาณ 1 แสนคน ส่วนใหญ่มีครอบครัวกับคนเยอรมนี เป็นแม่บ้าน โดยบางคนพาลูกติดไปอยู่ด้วย และมีลูกกับชาวเยอรมนีภายหลัง ส่วนหนึ่งรับจ้างทำงานในร้านอาหาร บริการนวดไทยและสปา จำนวนหนึ่งไปศึกษาเล่าเรียน และส่วนใหญ่มีปัญหาการปรับตัว การสื่อภาษา การปรับตัวเข้ากับสังคมวัฒนธรรมของเยอรมนี การให้ความรู้สุขภาพจิตจะช่วยให้คนไทยดูแลจิตใจตนเองได้ ปรับตัวได้เหมาะสม และในกลุ่มอาสาสมัครเข้าใจแนวทางและมีทักษะในการให้การปรึกษาแนะนำผู้อื่นได้เหมาะสม ช่วยเหลือกันในหมู่คนไทย เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชนไทยในเยอรมนี และขยายไปประเทศอื่นๆต่อไป

นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ รวมตัวกันในรูปของชมรมหรือสมาคม เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน เป็นทางออกในการบรรเทาปัญหาทางจิตใจที่ดีมาก เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยการรวมพลังกัน เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเหมือนอยู่ในประเทศไทย และสนับสนุนให้คนไทยต่างแดนมีการสื่อสารทางไกลเชื่อมโยงกับราชการไทย ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะจัดช่องทางให้คำปรึกษาทางอินเทอร์เน็ต เช่น สไกป์ เฟซบุ๊ก เพื่อให้การสื่อสารชัดเจน แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น