กรมควบคุมโรค ตั้งเป้าพื้นที่ปลอดพิษสุนัขบ้า 100% ภายในปี 2563 เน้นขึ้นทะเบียน ฉีดวัคซีน และทำหมัน แนะ ปชช.พาสุนัขไปฉีดวัคซีนประจำทุกปี
วันนี้ (28 ก.ย.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า นโยบายการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในเขตชนบทและเขตเมืองทั่วประเทศนั้น คร.ได้เร่งรัดให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขและปศุสัตว์ดูแลพื้นที่เขตชนบทและเขตเมือง โดยตั้งเป้าให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2563 หลักการสำคัญ คือ ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ครอบคลุมร้อยละ 80 ของสุนัขที่มีในหมู่บ้าน ควบคุมจำนวนสุนัขโดยขึ้นทะเบียนทุกหลังคาเรือน และการทำหมัน โดยเฉพาะสุนัขจรจัด ซึ่งจะให้อาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครปศุสัตว์ ออกสำรวจสุนัขในหมู่บ้าน เพื่อขึ้นทะเบียนให้ได้ทุกตัว รวมถึงการให้คำแนะนำประชาชนถึงวิธีป้องกันและการนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและลดความเสี่ยงจากการถูกกัด ประชาชนควรปฏิบัติตามคำแนะนำ 5ย ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” มีรายละเอียด ดังนี้ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ
นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนถูกสุนัขกัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล ให้ยึดหลัก ดังนี้ “ถูกกัด รีบล้างแผลใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อจนครบ” โดยหลังจากถูกกัดแล้ว ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามที่แพทย์แนะนำ จำสัตว์ที่กัดให้ได้ เพื่อสืบหาเจ้าของและต้องสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน ถ้าสุนัขตายให้สงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้ตัดหัวสุนัขแช่น้ำแข็งแล้วส่งไปตรวจที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ให้รีบส่งตรวจที่สถานเสาวภา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ บางเขน ถ้าพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัขที่ส่งตรวจ ให้ผู้ถูกกัดหรือถูกข่วน รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในกรณีที่ไม่สามารถกักสุนัขไว้ดูอาการได้ ก็ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน
“ประเด็นสำคัญ คือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ไปหาหมอ เพราะบาดแผลอาจเล็กน้อยหรือลูกสุนัขที่กัดนั้นมีเจ้าของจึงไม่ใส่ใจ และโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงสุนัขเองต้องมีความรับผิดชอบ เลี้ยงแล้วต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน จากนั้นต้องพาสุนัขไปฉีดวัคซีนประจำทุกปี ส่วนในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ปกครองและครูต้องสอนเด็กให้รู้ว่า หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน ไม่ว่าแผลจะเล็กหรือใหญ่ ต้องบอกผู้ปกครอง หรือครูทันที” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว