สปสช.เร่งทำประชาพิจารณ์ “เก็บ 30 บาท-นโยบายฉุกเฉิน 3 กองทุน” พบอุบลราชธานีมีปัญหาการเข้าถึงบริการและยา ส่วนคนชนบทห่างไกลเดินทางลำบาก ด้านภาคประชาชนเตรียมรวบรวมเรื่องร้องเรียนผลกระทบร่วมจ่าย เสนอ สปสช.กลาง ต.ค.นี้
วันนี้ (24 ก.ย.) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.กำลังจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นทั่วไปประจำปี 2555 ตามมาตรา 18 (13) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้ สปสช.ดำเนินการประชุมประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการให้บริการ การรับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าประชาชนทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการมีความพึงพอใจ หรือได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้วทุกปี เพื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ
“การรับฟังครั้งนี้จะมีทั้งกรณีนโยบายขยายสิทธิประโยชน์ นโยบายบูรณาการ 3 กองทุน กรณีให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งประเด็นการร่วมจ่าย 30 บาท เบื้องต้นได้ให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศดำเนินการประชาพิจารณ์แล้ว คาดว่าจะได้ผลสรุปเบื้องต้นในเดือนตุลาคมนี้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ล่าสุด จ.อุบลราชธานี ได้ทำประชาพิจารณ์เสร็จแล้ว โดยสรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในเรื่องการร่วมจ่าย 30 บาท แต่มีปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะกรณียาราคาแพง อาทิ โรคมะเร็ง และการรักษาต่างๆ ยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ แต่ในชนบทห่างไกลยังค่อนข้างลำบาก ผู้ป่วยยังต้องเดินทางเข้ารักษาในตัวจังหวัด นอกจากนี้ ในเรื่องนโยบายให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินยังมีปัญหาเรื่องบุคลากร เนื่องจากจำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาชีวิต แต่บางแห่งยังไม่เพียงพอ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแพทย์จบใหม่
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายการบูรณาการการบริการสาธารณสุข 3 กองทุนอย่างเท่าเทียม ทั้งเรื่องการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ และผู้ป่วยไต โดยหลักการถือว่าดีและเห็นด้วยตลอด แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือ การร่วมจ่าย 30 บาท เพราะเป็นการเพิ่มภาระบุคลากร เป็นการแบ่งแยกคนชัดเจน สวนทางกับนโยบายบูรณาการการบริการสาธารณสุข ที่เน้นลดความเหลื่อมล้ำ โดยล่าสุด ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เตรียมรวบรวมข้อร้องเรียนต่างๆ จากทั่วประเทศ ถึงผลกระทบจากนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท โดยจะนำเสนอต่อ สปสช.ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นในการประชาพิจารณ์ของ สปสช.ด้วย
“สำหรับนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท เบื้องต้นทราบว่าได้สร้างปัญหาในพื้นที่ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จ่าย แต่ยอมบริจาคเงินแทน ขณะที่ทางโรงพยาบาลบางแห่งก็พูดจาไม่ดี อยากให้จ่ายเงิน เพราะระบุว่าเมื่อมีการจ่ายยาก็ต้องจ่ายเงิน ทั้งที่ประชาชนมีสิทธิไม่จ่ายก็ได้ ตรงนี้เป็นความขัดแย้งในพื้นที่ ที่สำคัญ ยังแบ่งแยกชนชั้นชัดเจน เพราะมีข้อยกเว้นว่าคนที่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไม่ต้องจ่าย แบบนี้ตีตราคนเกินไป เป็นการสวนทางกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน” นายอภิวัฒน์ กล่าว