xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากเยาวชนคนพิการขอแค่เพียง “โอกาส” จากสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจจะไม่ได้มีกิจกรรมคึกคักเช่นเดียวกับวันเด็กแห่งชาติ แต่ “วันเยาวชนแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยทั้งเด็กและเยาวชนต่างเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ปี 2555 เราลองฟังเสียงเล็กๆ ของเยาวชนคนหนึ่ง ที่บอกผ่านไปถึงทุกคนในสังคม เชื่อได้เลยว่า ความในใจที่เธอสะท้อนออกมานั้น...สำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
น.ส.มีซา พัชรหฤทัย หรือ พิม อายุ 25 ปี ซึ่งถือว่าเธอยังอยู่ในช่วงวัยเยาวชน มีซา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (คลอง 6) ซึ่งเธอเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่มาแต่กำเนิด ทำให้รูปลักษณ์บนใบหน้าผิดแผกไปจากคนปกติ ปัจจุบันเธอทำงานอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด หรือ บ้านนนทภูมิ บอกเล่าความรู้สึกแทนเด็กและเยาวชนที่มีความพิการ ว่า สิ่งที่ผู้พิการทุกคน ไม่เฉพาะเด็กและเยาวชนต้องการ คือ “โอกาส” ที่จะมีความเท่าเทียมกับคนปกติ ทั้งเรื่องการศึกษา การทำงาน และการทำกิจกรรม

“ปัจจุบันบริษัทเอกชนเปิดรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น แต่ยังเป็นไป เพราะมีกฎหมายบังคับ หรือรับเข้าทำงานแต่ให้หลบอยู่ด้านหลัง สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราเสียใจ เพราะไม่ใช่การเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้ใช้ความสามารถที่มีประกอบอาชีพอย่างแท้จริง อันเป็นสิ่งที่ผู้พิการทุกคนต้องการ แม้ว่าความสามารถของเราอาจจะมีไม่มากเท่าคนปกติ แต่หากไม่ให้โอกาส เราก็ไม่ได้ทั้งประสบการณ์และไม่ได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่” มีซา กล่าว

มีซา ยังบอกด้วยว่า นอกจากนี้ เด็กพิการส่วนใหญ่ยังขาดโอกาสในการศึกษาระดับสูง ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้กับสถานสงเคราะห์ต่างๆ สำหรับผู้พิการ แต่ก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องนำไปใช้สำหรับการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพร่างกายจำนวนมาก

“นอกจากนี้ สถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยก็ไม่ค่อยเอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้พิการที่ต้องใช้รถวีลแชร์ หรือผู้พิการทางสายตา จึงอยากให้มีทางลาดสำหรับผู้พิการที่ต้องใช้รถวีลแชร์ มีรถเมล์ที่มีเสียงบอกสายรถประจำทาง เพราะเมื่อการเดินทางไม่สะดวก เวลาไปไหน มาไหนคนพิการก็ต้องใช้รถแท็กซี่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หนำซ้ำแท็กซี่บางคันพอเห็นว่าเป็นคนพิการก็ไม่ยอมรับ”

สาวน้อยที่หัวใจไม่พิการชื่อ มีซา ยังบอกอีกว่า อยากให้ทุกคนปฏิบัติกับผู้พิการเสมือนคนปกติ ช่วยเหลือเฉพาะในสิ่งที่ผู้พิการเหล่านั้นบกพร่องและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยขอให้มองว่าพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เท่าเทียมกัน ไม่ต้องทะนุถนอมผู้พิการจนเหมือนเป็นคนที่ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะบางครั้งเด็กพิการก็อยากเข้าร่วมกิจกรรมเช่นเดียวกับคนปกติ แต่สถานศึกษาบางแห่งไม่เข้าใจ และอาจจะด้วยเจตนาดีไม่ให้เด็กพิการได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เลย เพราะเกรงว่าจะบาดเจ็บ ทำให้เขาขาดโอกาสในการเรียนรู้ และเป็นการตอกย้ำว่าเขาบกพร่องแตกต่างจากเด็กทั่วไป เพียงแต่ในการทำกิจกรรมนั้นให้พิจารณาสิ่งที่เอื้อกับสภาพร่างกายของเด็กแต่ละคน และควรส่งเสริมให้เขาได้มีส่วนร่วมกับเพื่อนๆ ในสิ่งที่เขาสามารถทำได้ จะทำให้ผู้พิการรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ใช่ภาระ

สุดท้าย มีซา ฝากถึงทุกคนในสังคมด้วยน้ำเสียงชัดเจนของเธอ และปรารถนาให้ดังไปถึงทุกคน

“ผู้พิการอาจจะมีรูปร่าง หน้าตา หรืออวัยวะแตกต่างไปจากคนปกติ เพราะความบกพร่องของร่างกาย แต่พวกหนูไม่ใช่ตัวเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรีย อย่ามองพวกเราด้วยสายตารังเกียจ หรือมองเราด้วยสายตาสงสารเวทนา บางคนมองเราแล้วก็หัวเราะ หนูขอแค่มองหนูเป็นเด็กและเยาวชนคนหนึ่ง ที่อยากมีโอกาสทำสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ และอยากช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ไม่เป็นภาระให้กับสังคม เพียงแต่ให้โอกาสกับพวกเราเท่านั้นก็พอ”

แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะเข้าไปดูแลและพยายามจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีภาวะพิการและกลุ่มเด็กด้อยโอกาส แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ “มีซา”สะท้อนออกมานั้น ยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งต้องมีการแก้ปัญหาในเชิงระบบ นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะคนทำงานเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนในกลุ่มด้อยโอกาสและพิการ ปัญหาอยู่ที่การเข้าไม่ถึงบริการของรัฐตามสิทธิที่พึงได้ การทำงานของสำนัก 4 จึงมุ่งจุดประกาย กระตุ้น และสนับสนุน องค์กรหรือหน่วยงานที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้ โดยเน้นที่การพัฒนาเชิงระบบ เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่องตามกฎมายและสิทธิที่เด็กพึงได้รับ รวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมจิตอาสา เพื่อสร้างทัศนคติและมุมมองที่ถูกต้องที่สังคมควรมีต่อคนพิการ

“เราต้องการให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย ใจ สังคม ปัญญา ซึ่งหากสามารถดูแลให้เขาได้รับโอกาสที่พึงมีพึงได้ โดยผู้ใหญ่ทำหน้าที่เพียงประคับประคอง หรือสนับสนุนกระบวนการที่ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ว่าอะไรดี ไม่ดี ไม่ไปเป็นเด็กแว้น หรือกินเหล้า ยกพวกตีกัน สิ่งเหล่านี้มันก็ย้อนกลับคืนมาที่สังคม เพราะเด็กและเยาวชนทุกคน คือ อนาคตของเรา ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันสร้างให้สังคมน่าอยู่นั่นเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น