xs
xsm
sm
md
lg

“สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล” จิตรกรไร้มือ...แบบอย่างบันดาลใจ/คอลัมน์ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เพียงการที่เราได้ใช้ชีวิต ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในฐานะคนคนหนึ่ง กลายเป็นแรงผลักดันให้ใครอีกหลายคน มีกำลังใจ ขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาพูด หรือบอกกับผมก็กลายเป็นกำลังใจให้ผมสามารถที่จะต่อสู้ต่อไป โดยไม่ยอมแพ้ ถือเป็นกำลังใจที่ต่างฝ่ายต่างให้กันและกัน”

“สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล” ครูสอนศิลปะ และจิตรกรไร้มือ วัย 45 ปี ไม่เพียงแต่เป็นไอดอลของผู้พิการเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจและสร้างกำลังใจให้กับคนอีกมากมาย
สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล
บนโลกที่มีผู้คนหลายหลาย บางคนสมองดี มี 2 มือ 2 ขา แข็งแรง แต่กลับท้อแท้ สิ้นหวังในชีวิต บางคนอวัยวะครบ 32 แต่ไม่เคยสร้างประโยชน์ต่อสังคม ใช้ชีวิตไร้แก่นสารไปวันๆ ขณะที่การใช้ชีวิตของอาจารย์สาโรจน์ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ต่อสู้ พากเพียร กว่าที่จะกลายมาเป็นจิตรกรฝีมือเยี่ยม และได้รับการยอมรับ จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในสังคม

อ.สาโรจน์ เล่าย้อนถึงช่วงชีวิตในวัยเด็ก ว่า ด้วยเกิดมามีความพิการแต่กำเนิด ในตอนเด็กๆ อ.สาโรจน์ ไม่ได้ชอบศิลปะเป็นพิเศษ แต่พอเรียนจบ ม.3 ต้องเลือกเส้นทางว่าจะไปสายอาชีพหรือสายสามัญ อ.สาโรจน์ ตัดสินใจเรียนศิลปะเพราะคิดว่า สามารถทำได้ดีกว่าทางเลือกอื่นๆ

“ผมเลือกเรียนวิทยาลัยอาชีวะลำปางโชคดีที่ได้โควตา พอเข้าไปเรียนผมก็ได้ที่โหล่ เพราะเรียนสู้คนอื่นไม่ได้ แรกๆ ก็ใช้ปลายแขนเขียนรูป แต่เพราะช่วงแขนสั้นทำให้ใบหน้า สายตาไปชิดกับกระดาษเกินไป ภาพจึงออกมาไม่ดี ผมจึงหาวิธีเขียนด้วยมือข้างเดียว โดยเอาหนังยางรัดด้ามพู่กันกับเนื้อบริเวณปลายแขน จากที่เรียนได้บ๊วยก็ขึ้นมาติด 1 ใน 10 ของโรงเรียน จนได้เป็นตัวแทนของวิทยาลัยมาแข่งวาดภาพที่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นก็เป็นตัวแทนภาคเหนือมาแข่งที่กรุงเทพฯ แต่สู้เขาไม่ได้ ก็ไม่ได้รางวัล จนอยู่ปี 3 ได้เป็นตัวแทนภาคเหนือมาแข่งอีกครั้ง ครั้งนี้ได้ที่ 2 แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมจดจำไม่ลืมเลือนเลย คือ คนที่ได้ที่ 1 ยกรางวัลให้เรา แล้วบอกว่า “เรายอมแพ้ใจนาย” การแข่งขันครั้งนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่า จริงๆ การแข่งขัน ใครจะชนะใครจะแพ้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เป็นเรื่องของน้ำใจคนยิ่งใหญ่กว่ามาก” อ.สาโรจน์ ระลึกถึงความหลัง

เส้นทางชีวิตของ อ.สาโรจน์ ยังคงก้าวเดินอย่างมุ่งมั่น จนจบ ปวช.ปี 3 ก็มาสอบเข้าวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ คณะจิตรกรรม เพื่อเรียน ปวส.อีก 2 ปี มีอยู่วันหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ อ.สาโรจน์ คิดว่า ตัวเองเดินทางมาไม่ผิดแน่นอน

“ผมเดินอยู่บนสะพานลอย เจอขอทาน แต่เขาปกติดีไม่ได้พิการนั่งขอทานอยู่ ในขณะที่เราเองพิการ แต่เราทำงาน เลยอยากพิสูจน์ว่า นั่งสะพานลอยมีอะไรดี ผมเลยปลอมตัวหาเสื้อผ้าเก่ามาใส่แล้วนั่งขอทานวันนั้นวันเดียวได้เงิน 1,500 บาท ขออยู่ 2 วัน ก็เลิก แต่ 2 วัน นั้นให้อะไรหลายอย่างมาก สิ่งสำคัญ คือ เงินที่ได้ไม่ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ เพราะเรามองว่าคุณค่าของความเป็นคน อยู่ที่การได้ทำงาน มีความภาคภูมิในในสิ่งที่ทำ ขอเขากินเขาก็ให้ด้วยความสงสาร แต่ไม่มีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน”
ผลงาน
อ.สาโรจน์ เล่าต่อว่า ตลอดเวลาที่เรียนก็ต้องทำงานไปด้วย เพราะฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน ซึ่งการเรียนศิลปะ มีค่าใช้จ่ายมากทั้งค่าสี ค่ากระดาษ ตอนนั้นใช้วิธีรับจ้างวาดภาพเหมือนที่สวนลุมพินี แต่เพราะเราเป็นคนพิการแรกๆ จึงไม่ค่อยมีลูกค้ามาวาดภาพ เราเลยประกาศว่า ถ้ามานั่งเป็นแบบ แล้วเขียนไม่เหมือนไม่ต้องจ่ายเงิน จนคนเขาเห็นว่าเราทำได้ ก็มีคนมาเข้าคิวแถวยาวมาก

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เจอแป๊ะแก่ๆ คนหนึ่ง เดินเอาเงินมายัดใส่กระเป๋า 500 บาท แล้วบอกว่า ไม่ต้องวาดรูปให้เขา ที่ให้เพราะเห็นว่า เราแขนขาไม่ดียังทำมาหากิน แต่ลูกชายไม่คิดจะทำอะไรเลย” เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ได้กลายเป็นพลังและช่วยให้กำลังใจแก้อาจารย์เป็นอย่างมาก

จากนั้น อ.สาโรจน์ ก็มาเป็นครูสอนศิลปะ ทำอยู่ 4 ปี ก็มารับงานฟรีแลนซ์ ผ่านงานมาหลากหลาย งานวาดฉาก เพนต์ดอกไม้ส่งของออกนอก จนในที่สุดสามารถเก็บหอมรอบริบจนเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเล็กๆ ได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากอาจารย์จะเปิดสอนศิลปะแล้ว อาจารย์ยัง เข้าไปช่วยสอนที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานปทุมธานี ได้ 5 ปีแล้ว คนเหล่านี้หมดหวัง หมดกำลังใจ พอเห็นเราเขาก็ฮึด มีกำลังใจคืนมา อีกอย่างการวาดภาพถือเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อแขน และทำให้จิตใจสบาย ไม่ฟุ้งซ่าน

เมื่อพูดถึงชีวิตที่ผ่านมา อ.สาโรจน์ มองว่า ทุกวันนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะเราสามารถทำให้ความฝันเป็นจริง ทั้งการแสดงเดี่ยวนิทรรศการ มีบ้าน มีรถ และมีกำลังใจ อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนเราก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ทุกคนต่างก็มีปัญหา อาจารย์ก็มีปัญหา บางสิ่งบางอย่างเราก็ไม่ได้ อย่างที่ต้องการ ดังนั้น ชีวิตต่อจากนี้ก็ต้องต่อสู้อยู่เหมือนเดิม รวมทั้งมีฝันที่อยากทำ โดยตั้งความหวังไว้ว่า อยาก0tแสดงภาพในต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีฝีมือ

ทั้งนี้ สามารถไปเยี่ยมนิทรรศการเดี่ยวศิลปะ “still life” เป็นการจัดเรียง ผลไม้ ดอกไม้ ของใช้ชนิดต่างๆ ด้วยมุมมองแบบหลากหลาย ด้วยเทคนิคสีน้ำ เกรยอง ที่สีลม ซ.19 อาคารสีลมแกลเลอเรีย 333 สีลมแกลเลอรี่ โดยเปิดแสดงอยู่จนถึงวันที่ 25 ก.ย.2555 ทุกวัน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้ โครงการศิลปะบำบัด ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานปทุมธานี โทรศัพท์สอบถามได้ที่ 02-531-7698, 089-7696893
กำลังโหลดความคิดเห็น