สาธิต จุฬาฯ เล็งศึกษาดูข้อดี-ข้อเสีย ก่อนตัดสินใจควรเลื่อนเปิดเทอมตามมหาวิทยาลัย หวั่นกระทบการเรียน เพราะ ร.ร.สาธิตใช้หลักสูตรการเรียนเดียวกับ สพฐ.ด้าน เลขาธิการ กพฐ.ยันแนวทางเดิมไม่เลื่อน แต่หากที่ประชุมวันที่ 5 ก.ย.มีมติอย่างไรก็พร้อมทำตาม
เมื่อวันนี้ (3 ก.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเลื่อนเปิดภาคเรียน และเลื่อนปฏิทินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษาหรือแอดมิชชัน ปีการศึกษา 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศสากล ว่า ในส่วนของ สพฐ.ยังยืนยันเช่นเดิมว่าจะยังไม่เลื่อนเปิดภาคเรียนตามระดับอุดมศึกษา เพราะกำหนดการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนสอดรับกับวิถีชีวิตของคนไทยอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของระดับนโยบาย ซึ่งหากการประชุมหารือเกี่ยวกับการเลื่อนเปิดเทอมในวันที่ 5 กันยายน ที่มี ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติออกมาเช่นไร สพฐ.ก็พร้อมปฏิบัติตาม
ด้าน ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า หากมีการเลื่อนเปิดเทอมก็ควรปรับให้สอดรับกันทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสาธิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตนได้มอบหมายให้รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ไปศึกษาผลดี ผลเสีย รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อจะได้เป็นข้อมูลพิจารณาว่าจำเป็นที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จะต้องเลื่อนเปิดเทอมตามมหาวิทยาลัยหรือไม่ เนื่องจากโรงเรียนสาธิต ถือเป็นห้องแล็บขนาดใหญ่ของคณะครุศาสตร์ ดังนั้น การบริหารจัดการจึงต้องสอดคล้องกับมหาวิทยาลัย แต่ถ้าหากเลื่อนจริงก็จะมีปัญหา เพราะโรงเรียนสาธิตใช้หลักสูตรการเรียนการสอนหลักสูตรเดียวกับ สพฐ.อีกทั้งจะต้องส่งนักศึกษาไปฝึกงานในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ด้วย ดังนั้นถ้าเปิด ปิดภาคเรียนไม่พร้อมกันจะทำให้เกิดปัญหาได้
“อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องทางนโยบายที่จะต้องพูดคุยกัน และการปรับเรื่องการศึกษาครั้งนี้ จะต้องทำให้ระบบการศึกษามีเอกภาพและต้องไม่มีผลกระทบกับนักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้เดินคนละครึ่งทาง และเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุปให้เร็วที่สุด”ศ.ดร.ศิริชัย กล่าว
คณะบดีครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง จะไม่เลื่อนเปิดเทอมตาม ทปอ.โดยให้เหตุผลว่า จะกระทบต่อการฝึกงานของนักศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ต้องไปฝึกงานในโรงเรียนสังกัด สพฐ.นั้น ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ แต่ต่อไป หากจะให้การศึกษามีการพัฒนาเทียบเท่านานาชาติ ก็ต้องดูกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย เชื่อว่า ต่อไปการศึกษาขั้นพื้นฐานก็คงต้องปรับ