xs
xsm
sm
md
lg

บวงสรวงพระปรางค์วัดอรุณ กรมศิลป์เตรียมทำแผนบูรณะใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บวงสรวงพระปรางค์วัดอรุณฯ บูรณะคอม้าหัก กรมศิลป์ เร่งทำแผนบูรณะครั้งใหญ่ ปี 56-58 หลังพบพระปรางค์ทรุดโทรม เตรียมชง ครม.ของบฟื้นฟูสัญลักษณ์ของประเทศ กว่า 100 ล้าน

วันนี้ (3 ก.ย.) เวลา 09.59 น.ที่วัดอรุณราชวราราม กรมศิลปากร ประกอบพิธีบวงสรวงบูรณะพระปรางค์องค์เล็ก วัดอรุณฯ หลังจากคอม้าบริเวณยอดพระปรางค์องค์เล็กหักมา โดยมีพระเทพมงคลรังษี เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร
และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ โดยในเวลา 10.05 น.นางสุกุมล จุดธูปเทียนบูชาเครื่องบวงสรวง พร้อมถวายเครื่องมือช่าง พระเทพมงคลรังษี เจิม เพื่อความเป็นสิริมงคลเกิดแก่ช่างที่จะทำการบูรณะ จากนั้น พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เจริญชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีถวายเครื่องสังเวย บูชาเทพยดาเสร็จแล้ว นางรำ จากสำนักการสังคีต รำเทพบันเทิง ถวายเทพยดา ต่อมา พระพรหมเวที พระพรหมสุธี พระพรหมดิลกกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ โปรยข้าวตอกดอกไม้ บริเวณพระปรางค์สถานที่บูรณะเป็นอันเสร็จพิธีบวงสรวง

พระเทพมงคลรังษี กล่าวว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความทรุดโทรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอายุกว่า 100 ปี ที่สำคัญ พระสงฆ์ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย จะทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ซึ่งการบูรณะนั้น ต้องเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องช่วยเข้ามาดูแล และอยากให้มีการบูรณะทั้งหมด

นางสุกุมล กล่าวว่า การบูรณะพระปรางค์องค์เล็กทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของกลุ่มพระปรางค์วัดอรุณ โดยเฉพาะคอม้าที่หักลงมาทั้ง 2 ตัว จะมีการปั้นเสริมขึ้นมาใหม่ โดยคัดลอกรูปแบบหัวและคอม้ามาจากพระปรางค์ทิศตะวันตกและตะวันออก มาเป็นต้นแบบ จะใช้ระยะเวลาบูรณะประมาณ 2 เดือน ที่สำคัญ จากการตรวจสอบ พบว่า พระปรางค์ทั้งหมดมีความเสียหายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้งบประมาณที่เตรียมไว้บูรณะพระปรางค์องค์เล็ก 500,000 บาท อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ตนมอบหมายให้กรมศิลปากร ทำแผนการบูรณะพระปรางค์ทั้งหมดอย่างละเอียด เพื่อเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นางโสมสุดา  กล่าวว่า วันที่ 5 ก.ย.นี้ ตนได้เชิญ คณะกรรมการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ มาประชุมหารือ เพื่อจัดทำแผนและวิธีการบูรณะพระปรางค์ทั้งหมด เพื่อทำแผนของบประมาณต่อรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2556-2558 คาดว่า จะใช้งบประมาณกว่า 100 บาท พร้อมกันนี้ จะหารือถึงการปิดการเข้าชมบริเวณชั้น 2 และ 3 ของพระปรางค์ ระหว่างที่มีการบูรณะครั้งใหญ่ ส่วนวัสดุและอุปกรณ์ที่จะนำมาบูรณะ โดยเฉพาะกระเบื้อง ต้องมีเผากระเบื้องใหม่ทั้งหมด โดยยึดรูปแบบดังเดิม เพื่อให้วัสดุมีความคงทนแข็งแรง

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรได้มาสำรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบพระปรางค์วัดอรุณฯ ช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พบว่าพื้นดินบริเวณรอบพระปรางค์มีการยุบตัว และได้บูรณะไปแล้ว แต่ไม่คิดว่าองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ จะเกิดความทรุดโทรมขนาดนี้ ตอนชิ้นส่วนประติมากรรมม้าทรงจากพระปรางค์หักหล่นลง ก็ได้เข้าไปสำรวจองค์พระปรางค์ เมื่อได้สังเกตใกล้ๆ จะเห็นแผ่นกระเบื้องที่ประดับพระปรางค์หลุดออกไปเป็นจำนวนมาก โดยจากการสอบถามไปทางผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ทราบว่า ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของนักท่องเที่ยว แต่ผู้ที่นำเอาแผ่นกระเบื้องไปมักจะต้องนำกลับมาคืนทุกครั้ง ถึงขนาดมีเรื่องเล่าว่ามีชาวเยอรมันนำแผ่นกระเบื้องที่ประดับพระปรางค์กลับประเทศไป แต่อยู่ได้ไม่นานต้องรีบเอากลับมาคืนที่วัด

ด้าน นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากคณะนายธวัชชัย ตันชัยสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มาตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนและความมั่นคงของพระปรางค์ และได้เสนอให้กรมศิลปากรติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดและติดตามสถานการณ์อย่างเป็นระบบนั้น นางโสมสุดา ได้มอบหมายให้ตนประสานกับ มช.จัดแผนและงบประมาณติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด 4 ประเภท ได้แก่ 1.เครื่องตรวจวัดการทรุดตัวของดิน บริเวณใต้ฐานพระปรางค์และพื้นที่โดยรอบ 2.เครื่องวัดการเคลื่อนตัวของดินด้านหน้าพระปรางค์ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มการเคลื่อนตัวของดินสูง 3.เครื่องตรวจวัดแรงดันน้ำใต้ดิน ซึ่งพบว่ามีน้ำใต้พระปรางค์เป็นจำนวนมากอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโครงสร้างพระปรางค์ และ 4.ตั้งเครื่องมือวัดความเอียงของพระปรางค์ เพื่อติดตามโครงสร้างพระปรางค์เอียงจากตำแหน่งเดิมหรือไม่ โดยการติดตั้งทั้งหมดจะใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท โดยจะติดตั้งในปี 2556

ซึ่งบรรยากาศภายในวัดอรุณฯ มีนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ เป็นจำนวนมาก ขึ้นไปชมบริเวณยอดพระปรางค์อย่างต่อเนื่อง



กำลังโหลดความคิดเห็น