xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการหวั่นปลูกป่าสมุนไพรต่างถิ่นทำคุณภาพแย่ลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เร่งรวบรวมและวิจัยภูมิปัญญา ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ นักวิชาการแนะหลักสำคัญ 5 ข้อ การปลูกป่าสมุนไพร ย้ำควรศึกษาและอนุรักษ์สมุนไพรท้องถิ่นมากกว่าการปลูกสมุนไพรต่างถิ่น ชี้ทำคุณภาพสมุนไพรแย่ลง

รศ.ดร.โรจน์ชัย ศัตรวาหา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช กล่าวระหว่างการเสวนา “เราจะช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ และปลูกป่าสมุนไพร เพื่อประโยชน์ของชุมชนได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่วัดป่าประชาสโมสรบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม ว่า การฟื้นฟูป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิมนั้นต้องคำนึงถึง 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ภูมิหลังและประวัติความเป็นมาของป่าแห่งนั้น โดยต้องรู้ว่าป่ามีความเป็นมาอย่างไร มีพันธุ์ไม้ มีสัตว์ป่าชนิดใดที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น 2.ความพอดีของสภาพดิน น้ำ อากาศ อาหาร เพื่อให้สมุนไพรเจริญเติบโตได้ดีขึ้น 3.ปริมาณของพื้นที่ในบรรจุความหลากหลายของสมุนไพร โดยการปลูกต้องไม่แออัดมากจนเกินไป และไม่น้อยเกินไปจนเสียความสมดุล ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพสมุนไพรแย่ลง 4.บทบาทและประโยชน์ของสมุนไพรต่อพื้นที่ที่ปลูก ต้องไม่หวังผลการเป็นยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียว และ 5.การเก็บเกี่ยวมาใช้ประโยชน์ของสมุนไพร โดยต้องพิจารณาตามความจำเป็น ความเหมาะสม และความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า โดยต้องไม่อิงกับความต้องการของตลาดมากจนเกินไป
ดอกคำฝอย - ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
การปลูกป่าสมุนไพรจำเป็นที่จะต้องศึกษาสมุนไพรในท้องถิ่นให้ลึกถึงรากเหง้าก่อนที่จะปลูก และดูแลสมุนไพรท้องถิ่นให้มีความอยู่รอด เนื่องจากธรรมชาติสร้างให้แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน หากมีการนำสมุนไพรจากต่างถิ่นเข้ามาปลูก อาจทำให้สมุนไพรท้องถิ่นและต่างถิ่นบางชนิดไม่เจริญเติบโต และบางชนิดอาจตายได้” รศ.ดร.โรจน์ชัย กล่าว

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแบ่งสมุนไพรออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สมุนไพรที่กำลังจะสูญพันธุ์ 2.สมุนไพรที่มีคุณค่าทางการวิจัย และ 3.สมุนไพรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯพยายามที่จะอนุรักษ์สมุนไพรทั้ง 3 กลุ่มให้คงอยู่ โดยขณะนี้กำลังรวบรวมภูมิปัญญาและตำรับยาต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในใบลาน ใบข่อย โดยสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อให้เกิดการยอมรับว่า สมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาต่างๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรเพิ่มเติมในพื้นที่เขตอนุรักษ์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำการตลาดกลางสมุนไพร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ที่ภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสาน ได้แก่ จ.มหาสารคาม และ จ.อุบลราชธานี และภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างเครือข่ายในการติดต่อซื้อขายสมุนไพรและพัฒนาองค์ความรู้

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายที่จะนำสมุนไพรมาใช้อย่างกว้างขวางแทนยาแผนปัจจุบัน เพื่อลดปริมาณและค่าใช้จ่ายจากการใช้ยา นอกจากนี้ จะนำระบบแพทย์แผนไทยเข้าไปบรรจุอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมากขึ้นด้วย” นพ.สุพรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น