xs
xsm
sm
md
lg

“พระเทพฯ” เปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระราชินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเทพฯ เปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติราชินี พระราชทานเข็ม 59 ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น กรมศิลป์โชว์เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงเก่าแก่อายุ 2 พันปี พร้อม 190 โบราณวัตถุล้ำค่า

วันนี้ (23 ส.ค.) ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับงานประณีตศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยมี นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ.นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร และคณะผู้บริหาร วธ.เฝ้ารับเสด็จฯ

นางสุกุมล กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดนิทรรศการ จากนั้น นางโสมสุดา ได้กราบบังคมทูลเบิกผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น และผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ เข้ารับพระราชทานเข็มเกียรติคุณวันอนุรักษ์มรดกไทย 59 ราย อาทิ นายมิวะ คะโรกุ ผู้อำนวยการใหญ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัด วธ.นายฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช รวมทั้งพระสงฆ์จำนวน 10 รูปด้วย

นางสุกุมล กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการอย่างละเอียด และทรงรับสั่งให้กรมศิลปากรไปศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับกระจกเกรียบว่าโบราณทำอย่างไร เพราะงานเหล่านี้ต้องอาศัยฝีมือ ถ้าหากงานเหล่านี้หลงเหลืออยู่จะได้นำมาศึกษากรรมวิธีต่างๆ แล้วอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนให้ประชาชนมาชมนิทรรศการระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม-22 ตุลาคม เวลา 09.00-16.00 น.(ยกเว้นวันจันทร์-วันอังคาร)

นางโสมสุดา กล่าวเสริมว่า ภายในนิทรรศการได้จัดแสดงโบราณวัตถุงานช่างศิลปกรรมไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวม 11 หมวด ที่พระองค์ทรงสืบสาน และอนุรักษ์จากมรดกจากงานช่างในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่อยๆ มาจนถึงรัตนโกสินทร์ จนเกิดเป็นงานศิลปาชีพในปัจจุบัน ได้แก่ 1.ผ้าปัก 2.ผ้าทอ 3.เครื่องถมเงิน ถมทอง 4.ไม้แกะสลัก 5.เครื่องทองเครื่องเงิน 6.เครื่องแต่งกายโขน 7.เครื่องคร่ำเงินคร่ำทอง 8.เครื่องจักรสาน 9.งานจักรสานย่านลิเภา 10.เครื่องปั้นดินเผา และ 11.ตุ๊กตาชาววัง

โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงมีทั้งหมด 190 ชิ้น นำออกมจากกรุภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ แต่ละชิ้นล้วนเป็นมรดกชาติที่มีความพิเศษล้ำค่าอย่างยิ่ง อาทิ สุวรรณมาลาทองคำถัก, พระที่นั่งบุษบกเกริน, แท่นพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์, ตุ๊กตาชาววัง ดินเผา, กรรไกรไทย คร่ำเงิน คร่ำทอง, กระเป๋าย่านลิเภา, ผ้าปักไหมสี, พนักกัญญาเรือพระที่นั่งประจำทวีปเงินถมทอง สมัยรัชกาลที่ 5, หัวโขนหนุมานหน้ามุก ในสมัยรัชกาลที่ 2, ชุดหัวโขน เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับโขน” นางโสมสุดา กล่าว

นายอนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาก้นกลม ประดับตกแต่งลวดลาย ด้วยวิธีเขียนลาย ด้วยวิธีเขียนลายเส้นสีแดงบนพื้นสีนวล แบบวัฒนธรรมบ้านเชียง จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อายุประมาณ 2, 300 ปี ถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในการนำมาแสดงในครั้งนี้









กำลังโหลดความคิดเห็น