xs
xsm
sm
md
lg

มึน! ทารกไทยลิ้นติดเพียบ “ดูดนม-พูด” ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ทารกไทยลิ้นติด เฉพาะที่ รพ.ศิริราช พบสูงถึง 16% ตลอด 4-5 ปี ผ่าตัดแก้ไขพังผืดใต้ลิ้นกว่าหมื่นราย ส่งผลดูดนมจากเต้าแม่ไม่ได้-ตัวเหลือง-พูดไม่ได้ เชื่อน่าจะเกิดจากพันธุกรรม

ผศ.นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง หัวหน้าสาขาวิชากุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ภาวะลิ้นติดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการยึดของพังผืดใต้ลิ้นที่มีมากกว่าปกติ จะทำให้เกิดปัญหาการขยับปลายลิ้นหรือการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร โดยที่โรงพยาบาลศิริราชทำการรักษาทารกที่มีภาวะนี้เดือนละประมาณ 200 คน ตลอด 5 ปีที่มีการเปิดคลินิกรักษาภาวะนี้มีผู้ป่วยกว่า 1 หมื่นราย และจากการศึกษาผู้ป่วยเด็กไทยของ รพ.ศิริราช พบว่า มีพังผืดใต้ลิ้นสูงถึง 16% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ ประเทศแถบตะวันตกจะพบเด็กทารกมาภาวะนี้ราว 5-10%

ผศ.นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ทารกที่มีภาวะลิ้นติด ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา คือ เด็กจะไม่สามารถใช้ลิ้นช่วยดูดนมจากเต้านมของมารดา สังเกตได้จากเด็กงับหัวนมไม่ติด ดูดเบา ดูดบ่อย มีอาการตัวเหลือง สำหรับมารดาก็จะมีอาการเจ็บขณะที่ทารกดูดนม อาจมีหัวนมแตกเป็นแผล ส่งผลแทรกซ้อนถึงเต้านมได้ อีกทั้งเป็นอุปสรรคต่อการให้นมบุตร นอกจากนี้ ภาวะลิ้นติดยังส่งผลต่อการพูด โดยเฉพาะปลายลิ้นที่ต้องช่วยในขณะออกเสียงควบกล้ำ ดังนั้น ในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้นก็อาจพูดไม่ได้ พูดช้า และมีปมด้อยได้

“การเกิดของภาวะนี้มีการพยายามจะพิสูจน์ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับทางพันธุกรรม เนื่องจากหากเป็นทารกแฝดจะเกิดภาวะลิ้นติดทั้งคู่ นอกจากนี้ น้องที่มีภาวะลิ้นติดเมื่อสืบประวัติ พบว่า พี่มีภาวะลิ้นติดด้วย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัด ส่วนที่ชัดเจนคือพังผืดมีผลต่อการดูดนมแม่ของทารก ทำให้ดูดนมจากเต้าแม่ไม่ได้ ทั้งที่นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูกในวัยนี้” ผศ.นพ.มงคล กล่าว

ผศ.นพ.มงคล กล่าวด้วยว่า ในการรักษาภาวะลิ้นติดสำหรับในทารกแพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 นาที และหลังจากผ่าตัดทารกสามารถกินนมได้เลย อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นไม่ใช่ว่าทารกที่มีภาวะนี้ทุกรายจะต้องได้รับการผ่าตัด ต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น หากมารดามีหัวนมยาว ทารกอาจจะสามารถดูดนมแม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ส่วนเด็กโตที่พูดไม่ชัดซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากพังผืดใต้ลิ้นนั้น จะต้องเข้ารับการประเมินจากเจ้าหน้าที่แบบตามบบประเมินของรพ.ศิริราชก่อนว่าพูดไม่ชัดแบบไหน อย่างไร จากนั้นแพทย์จะพิจารณาการรักษาอีกครั้ง หากต้องผ่าตัดในเด็กโตจะต้องใช้วิธีการดมยาสลบ ทั้งนี้ ภาควิชามีบริการคลินิกรักษาพังผืดใต้ลิ้นครบวงจรเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย โดยทำการตรวจและผ่าตัดแก้ไขแก่เด็กกลุ่มนี้ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานมีปัญหาพังผืดใต้ลิ้นสามารถสอบถามได้ที่ คลินิกพังผืดใต้ลิ้น ตึกสยามินทรื ชั้น 5 หรือ โทร.0-2419-8070 และ 0-2419-8319
กำลังโหลดความคิดเห็น