xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.ม.เกษตรฯ ออกนอกระบบ ไม่สนแนวร่วมนิสิตฯ ยื่นหนังสือค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ม.เกษตรฯ ไม่สนแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ค้านไม่ให้นำ ม.เกษตรฯ ออกนอกระบบ โดยให้นำกลับไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับนิสิตและประชาชนก่อน “ปู” กำชับ ม.เกษตรฯ ออกนอกระบบคุณภาพต้องเหมาะสมกับราคา
ที่ทำเนียบรัฐบาล แนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ นำโดย นายนิฐิพันธ์ คำยศ นิสิต ม.เกษตรฯ ยื่นหนังสือต่อ นายกรัฐมนตรีผ่าน
นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการการเมือง เพื่อขอให้ยับยั้งการนำร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ พ.ร.บ.ในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) ตามที่มีรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปซึ่งกระบวนการในการร่าง นิสิต นักศึกษา และประชาชนไม่มีส่วนร่วมและให้อำนาจผู้บริหารที่มาจากการแต่งตั้งบริหารเงินอย่างเต็มที่

พร้อมทั้งเสนอให้ ครม.มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และให้ ม.เกษตรฯ นำร่างกลับไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาคม อย่างแท้จริง และขอให้รัฐบาลทำหนังสือถึงผู้บริหาร ม.เกษตรฯ ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 

ด้าน ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ ศธ.เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.... โดยจากนี้จะต้องนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
 

ขณะที่ รศ.วุฒิชัย  กปิลกาญจน์  อธิการบดีม มก.กล่าวว่า จากนี้คงต้องรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง มก.เองคิดว่ามีความพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ และเชื่อว่า จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย โดยไม่อยากให้ทุกคน มองว่า เมื่อออกนอกระบบแล้ว จะต้องไปขึ้นค่าหน่อยกิต หรืออธิการบดีจะมีเงินเดือน 2-3 แสนบาท เพราะเราคงไม่ไปคิดตรงนั้น โดย มก.ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ต้องดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและนักศึกษาเป็นสำคัญ และที่ผ่านมา หลายมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า  การออกนอกระบบทำให้มหาวิทยาลัยพัฒนาได้เร็วขึ้น เพราะมีระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัว และไม่ได้มีการขึ้นค่าหน่วยกิต เช่น ที่หลายคนกังวล ส่วนที่พนักงานมหาวิทยาลัยกังวลว่า เมื่อออกนอกระบบแล้ว มหาวิทยาลัยจะมีอำนาจมากขึ้น และใช้ระบบประเมินที่ไม่เป็นธรรม และคิดว่ามหาวิทยาลัยนึกจะไล่ใครออกก็ไล่ได้นั้น  มหาวิทยาลัยคงไม่ไปทำแบบนั้น เพราะการที่มหาวิทยาลัยจะประเมินให้ใครออกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องยากมาก แต่ระบบประเมินจะช่วยคัดคนที่ไม่มีคุณภาพจริงๆ ได้

“เมื่อ มก.ออกนอกระบบแล้ว จะต้องมีการสรรหาอธิการใหม่หรือไม่นั้น  ตามบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่า เมื่อสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.แล้ว มหาวิทยาลัยจะมีเวลาเตรียมความพร้อมในการเป็น ม.ในกำกับรัฐ 1 ปี ซึ่งคิดว่าตนน่าจะอยู่จนครบวาระการดำรงตำแหน่ง ส่วนเมื่อตนครบวาระแล้ว ก็คงต้องมีการสรรหาอธิการบดีใหม่อย่างแน่นอน” อธิการ มก.กล่าว

เมื่อเวลา 14.00 น.นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ...ที่สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสารสำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และเป็นนิติบุคคล หรือเป็นเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งสารสำคัญของการนำมหาวิทยาลัยออกระบบ คือ กำหนดให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น กำหนดให้มหาวิทยาลัย มีรายได้จากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรเป็นรายปี เงินหรือมีผู้อุทิศให้ และรายได้ของมหาวิทยาลัยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการภายในมหาวิทยาลัย มีสภาวิชาการ กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการต่างๆ ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม.นายกฯได้เน้นย้ำว่า เมื่อมีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว ก็ต้องไปดูเรื่องการเก็บค่าเล่าเรียน หรือเงินเบี้ยเก็บต่างๆ ที่เป็นการบริการทางวิชาการต้องไปสูงเกินไป และต้องมีคุณภาพเหมาะสมกับราคา
กำลังโหลดความคิดเห็น