โดย...สุกัญญา แสงงาม
ทันทีที่เท้าสัมผัสสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “พม่า” เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ทักทายด้วยอัธยาศัยดี ว่า “มิงกะลาบา” ศัพท์คำแรกที่ได้เรียนรู้ ซึ่งแปลว่า “สวัสดี” พร้อมกับยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับเพื่อนบ้านดูอบอุ่น

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสำคัญทางศาสนา คือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้พาคณะข้าราชการและสื่อมวลชน ร่วมเกือบ 30 ชีวิต ไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวเมียนมาร์ ตามโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารงานวัฒนธรรมกับประเทศในอาเซียน ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงต้องศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการรู้เขารู้เรา รู้กันและกัน
คณะของเราได้ไกด์สาว ชื่อ “แดง” รับหน้าเสื่อพาคณะของเราไปเคารพสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เริ่มต้นด้วย การไหว้พระ “วัดพระเขี้ยวแก้ว” เพื่อเป็นสิริมงคล แก่ชีวิต

แดง เล่าว่า ชาวพม่ามีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เวลาจะเข้าวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ ก็คือ ถอดรองเท้า ถุงเท้า ก่อนเข้าศาสนสถาน และให้แต่งกายสุภาพ ห้ามนุ่งสั้น เสื้อแขนกุดหรือเสื้อกล้าม ส่วนดอกไม้ที่นำไปบูชา จะไม่ใช้ดอกบัว แต่เป็นดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีใบสีเขียว โดยชาวพม่ามีความเชื่อว่า ใบไม้สีเขียว หมายถึง ความรุ่งเรือง ความเจริญ นอกจากนี้ ไม่อนุญาตให้ปิดทองพระพุทธรูป หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่จะมีจุดจำหน่ายแผ่นทองใส่ไว้ในห่อสีแดง แล้วนำไปใส่ในเรือหงส์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำแผ่นทองเหล่านี้ไปมุงหลังคาหรือติดไว้ตามสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

หลังจากนั้น ได้เดินทางมาสักการะ และเวียนเทียนรอบ เจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของชาวพม่า และยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีมะเมีย ตามความเชื่อของคนไทยที่ผู้ที่เกิดปีมะเมีย จะต้องหาโอกาสมาสักการะครั้งหนึ่งในชีวิต
มหาเจดีย์ชเวดากอง ยิ่งใหญ่ตระการตาด้วยทองคำแท้ๆ โอบหุ้มทั้งองค์ มีน้ำหนักถึง 1,100กิโลกรัม ส่วนยอดเจดีย์ประดับอัญมณีล้ำค่าและเพชรเม็ดใหญ่เป้งน้ำหนักถึง 76.6 กะรัต โดยเฉพาะเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องมากระทบกับสีทองจากองค์เจดีย์ จะทำให้มองเห็นประกายความงดงามขององค์เจดีย์ได้เด่นชัดยิ่งขึ้น ครั้นพระอาทิตย์ตกดินจะเปิดไฟจะเห็นความงดงาม มหาเจดีย์ชเวดากอง ภายใต้ดวงดาวระยิบระยับ

ในวันที่คณะเราเดินทางไปนั้น ลานพื้นที่รอบองค์เจดีย์นั้นเนื่องแน่นไปที่มาทำบุญ มาเวียนเทียน มาสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธินับลูกประคำฝึกจิตให้สงบในวันพระใหญ่ด้วย เมื่อทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะไปตีระฆัง เพื่อให้เทพยดาบนสรวงสวรรค์ร่วมอนุโมทนาด้วย
วันรุ่งขึ้นลงเรือไปชม พระเจดีย์เยเลพญา เจดีย์คู่บ้านคู่เมืองชาวสิเรียมบนเกาะกลางน้ำ ทางขึ้นจะมียักษ์ 2 ตนเฝ้าอยู่หน้าประตูทางเข้า จะเห็นคนจุดบุหรี่ใส่ปากยักษ์ ไกด์แดง บอกว่า เขากำลังขอพรเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยจะลูบบริเวณที่เจ็บป่วย เชื่อว่าจะโรคภัยไข้เจ็บจะหายเป็นปลิดทิ้ง
อีกสถานที่หนึ่งที่พลาดไม่ได้ ต้องไปนมัสการ “เทพทันใจ” หรือ “นัตโบโบยี” ที่ พระเจดีย์โบตาทอง เชื่อกันว่า อธิษฐานขอสิ่งใดแล้วจะสมความปรารถนา แต่ให้ขอเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ไกด์แดง แนะนำว่า ก่อนอธิษฐาน ต้องนำแบงค์ม้วนเป็นกรวยซ้อนกัน 2 ใบ เพื่อนำไปเสียบไว้ในมือ เทพทันใจ และให้ชักใบที่อยู่ด้านนอกออกเพื่อนำมาเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ ส่วนตอนอธิฐานจะต้องเอนศีรษะเราไปชิดติดกับนิ้วชี้ของเทพทันใจ พร้อมเอามือเราทั้งสองข้างกุมมือท่านไว้ จากนั้น ให้วนทางด้านหลัง มาเจอมืออีกข้างก็ให้อธิษฐานอีกรอบ

นับเป็นภาพแห่งความเชื่อและศรัทธา ที่แม้กาลเวลาจะล่วงเลย แต่สิ่งเหล่านี้ก็มิได้สูญหายไปจากใจพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาร์เลย เหนือสิ่งอื่นใด ไกด์แดง ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลมีระเบียบแบบแผนในการดูแลโบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างชัดเจน โดยจะบูรณะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้งดงามทุกๆ 3-5 ปี โดยเงินที่นำมาบูรณะส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งคือเงินที่ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว ร่วมทำบุญใส่ตู้บริจาค ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย
ทันทีที่เท้าสัมผัสสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “พม่า” เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ทักทายด้วยอัธยาศัยดี ว่า “มิงกะลาบา” ศัพท์คำแรกที่ได้เรียนรู้ ซึ่งแปลว่า “สวัสดี” พร้อมกับยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับเพื่อนบ้านดูอบอุ่น
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสำคัญทางศาสนา คือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้พาคณะข้าราชการและสื่อมวลชน ร่วมเกือบ 30 ชีวิต ไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวเมียนมาร์ ตามโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารงานวัฒนธรรมกับประเทศในอาเซียน ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงต้องศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการรู้เขารู้เรา รู้กันและกัน
คณะของเราได้ไกด์สาว ชื่อ “แดง” รับหน้าเสื่อพาคณะของเราไปเคารพสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เริ่มต้นด้วย การไหว้พระ “วัดพระเขี้ยวแก้ว” เพื่อเป็นสิริมงคล แก่ชีวิต
แดง เล่าว่า ชาวพม่ามีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เวลาจะเข้าวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ ก็คือ ถอดรองเท้า ถุงเท้า ก่อนเข้าศาสนสถาน และให้แต่งกายสุภาพ ห้ามนุ่งสั้น เสื้อแขนกุดหรือเสื้อกล้าม ส่วนดอกไม้ที่นำไปบูชา จะไม่ใช้ดอกบัว แต่เป็นดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีใบสีเขียว โดยชาวพม่ามีความเชื่อว่า ใบไม้สีเขียว หมายถึง ความรุ่งเรือง ความเจริญ นอกจากนี้ ไม่อนุญาตให้ปิดทองพระพุทธรูป หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่จะมีจุดจำหน่ายแผ่นทองใส่ไว้ในห่อสีแดง แล้วนำไปใส่ในเรือหงส์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำแผ่นทองเหล่านี้ไปมุงหลังคาหรือติดไว้ตามสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
หลังจากนั้น ได้เดินทางมาสักการะ และเวียนเทียนรอบ เจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของชาวพม่า และยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีมะเมีย ตามความเชื่อของคนไทยที่ผู้ที่เกิดปีมะเมีย จะต้องหาโอกาสมาสักการะครั้งหนึ่งในชีวิต
มหาเจดีย์ชเวดากอง ยิ่งใหญ่ตระการตาด้วยทองคำแท้ๆ โอบหุ้มทั้งองค์ มีน้ำหนักถึง 1,100กิโลกรัม ส่วนยอดเจดีย์ประดับอัญมณีล้ำค่าและเพชรเม็ดใหญ่เป้งน้ำหนักถึง 76.6 กะรัต โดยเฉพาะเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องมากระทบกับสีทองจากองค์เจดีย์ จะทำให้มองเห็นประกายความงดงามขององค์เจดีย์ได้เด่นชัดยิ่งขึ้น ครั้นพระอาทิตย์ตกดินจะเปิดไฟจะเห็นความงดงาม มหาเจดีย์ชเวดากอง ภายใต้ดวงดาวระยิบระยับ
ในวันที่คณะเราเดินทางไปนั้น ลานพื้นที่รอบองค์เจดีย์นั้นเนื่องแน่นไปที่มาทำบุญ มาเวียนเทียน มาสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธินับลูกประคำฝึกจิตให้สงบในวันพระใหญ่ด้วย เมื่อทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะไปตีระฆัง เพื่อให้เทพยดาบนสรวงสวรรค์ร่วมอนุโมทนาด้วย
วันรุ่งขึ้นลงเรือไปชม พระเจดีย์เยเลพญา เจดีย์คู่บ้านคู่เมืองชาวสิเรียมบนเกาะกลางน้ำ ทางขึ้นจะมียักษ์ 2 ตนเฝ้าอยู่หน้าประตูทางเข้า จะเห็นคนจุดบุหรี่ใส่ปากยักษ์ ไกด์แดง บอกว่า เขากำลังขอพรเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยจะลูบบริเวณที่เจ็บป่วย เชื่อว่าจะโรคภัยไข้เจ็บจะหายเป็นปลิดทิ้ง
อีกสถานที่หนึ่งที่พลาดไม่ได้ ต้องไปนมัสการ “เทพทันใจ” หรือ “นัตโบโบยี” ที่ พระเจดีย์โบตาทอง เชื่อกันว่า อธิษฐานขอสิ่งใดแล้วจะสมความปรารถนา แต่ให้ขอเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ไกด์แดง แนะนำว่า ก่อนอธิษฐาน ต้องนำแบงค์ม้วนเป็นกรวยซ้อนกัน 2 ใบ เพื่อนำไปเสียบไว้ในมือ เทพทันใจ และให้ชักใบที่อยู่ด้านนอกออกเพื่อนำมาเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ ส่วนตอนอธิฐานจะต้องเอนศีรษะเราไปชิดติดกับนิ้วชี้ของเทพทันใจ พร้อมเอามือเราทั้งสองข้างกุมมือท่านไว้ จากนั้น ให้วนทางด้านหลัง มาเจอมืออีกข้างก็ให้อธิษฐานอีกรอบ
นับเป็นภาพแห่งความเชื่อและศรัทธา ที่แม้กาลเวลาจะล่วงเลย แต่สิ่งเหล่านี้ก็มิได้สูญหายไปจากใจพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาร์เลย เหนือสิ่งอื่นใด ไกด์แดง ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลมีระเบียบแบบแผนในการดูแลโบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างชัดเจน โดยจะบูรณะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้งดงามทุกๆ 3-5 ปี โดยเงินที่นำมาบูรณะส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งคือเงินที่ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว ร่วมทำบุญใส่ตู้บริจาค ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย