xs
xsm
sm
md
lg

CSR แนวพุทธ ทำดีเพื่อสังคมวิถี 5 ส สู่วัดสร้างสุข...สร้างบุญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
หลายๆ คนอาจจะรู้จักเป็นอย่างดีแล้วว่า CSR มาจากคำว่า Corporate Social Responsibility ซึ่งก็คือ กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม CSR ในเชิงพุทธศาสนา ก็ใช้หลักการคล้ายคลึงกับ CSR ในภาคธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เอาเปรียบบุคคลอื่น ช่วยให้การดำเนินชีวิต เป็นไปอย่างมีความสุข


เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (ส.ส.ท.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาเรื่อง “CSR สร้างสุข สร้างบุญ” โดย ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อธิบายถึง CSR แนวพุทธ สมดุลความสุขแห่งชีวิตว่า หลักพุทธธรรมที่เชื่อมโยงกับ CSR และนำไปดำเนินการเพื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคองค์กรธุรกิจ ได้แก่ 1.หลักมัชเฌนธรรม คือ ธรรมที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ เช่น ไตรลักษณ์ ขันธ์ 5 2.หลักวินัย เป็นหลักการจัดระเบียบชีวิตและวางระบบ 3.หลักธรรมเพื่อปัจเจกบุคคลเป็นหลักจริยธรรมเพื่อพัฒนาคน เช่น โยนิโสมนสิการ อริยสัจ 4 อิทธิบาท 4 4.หลักพุทธธรรมเพื่อสังคม ได้แก่ สังคหวัตถุ 4 พรหมวิหาร 4 และพัฒนาไปสู่ความสมดุลเชิงพุทธ สามารถจัดการและดูแลชีวิตที่ดีร่วมกัน เมื่อคนในมีความสุข สังคมโดยรวมย่อมมีความสุขไปด้วย

ดร.พระมหาสุทิตย์ บอกอีกว่า สำหรับ โครงการ “วัดสร้างสุข” ถือเป็น CSR ที่มีเป้าหมายเป็นรูปธรรม การที่จะลงมือนำ 5 ส สู่วัด ต้องเข้าใจว่า ปัญหาที่มีอยู่เดิม คือพระขาดความรู้ในการจัดการพื้นที่และภูมิสถาปัตย์ เน้นแต่อาคาร วิหาร แต่สภาพแวดล้อมไม่ดี พื้นที่และโครงสร้างไม่เอื้อต่อการออกแบบปรับปรุงใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ คือ การปรับให้เกิดความสมดุล ส่วนผู้ที่มาทำบุญที่วัดก็ต้องเริ่มจากวิธีการทำเป็นตัวอย่าง มีกฎเกณฑ์บังคับ และฝึกตลอดเวลา เช่น เจอขยะแล้วเก็บ ทำจนเป็นนิสัย เกิดการเปลี่ยแปลง ดังนั้น เมื่อเข้ามาในวัด หากใครไม่ทำดังนี้ก็กลายเป็นแกะดำ
 อนุวรรตน์ ศิลาเรืองอำไพ
“พื้นที่ที่ควรจะเริ่มลงมือ 5 ส ก่อนเป็นอันดับต้นๆ คือ พื้นที่ทางสังคม และจิตใจ ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายในวัดในส่วนที่ชาวบ้านจะมาร่วมทำกิจกรรม ทั้งงานบุญ งานศพ โดยพัฒนาพร้อมกันกับพื้นที่ทางจิตใจ เพราะหากปรับปรุงพื้นที่เชิงกายภาพเพียงอย่างเดียว คงทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่หากเริ่มที่คนก็จะช่วยให้เกิดความยั่งยืน” ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ระบุ

อนุวรรตน์ ศิลาเรืองอำไพ ผู้อำนวยการสายงานการศึกษาฝึกอบรมและวินิจฉัยให้คำปรึกษาสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) (ส.ส.ท.) อธิบายถึงโครงการวัดสร้างสุขว่า เป็นโครงการที่จะให้พระสงฆ์เป็นผู้นำกระแสเรื่อง 5ส ทั้งในเรื่องกายภาพ และจิตใจ ทางด้านกายภาพต้อการให้ “วัด” เป็นกลางชุมชน เป็นผู้นำชุมชน เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นสถานที่อันสงบสุข ชาวบ้านหันมาเข้าวัดมากขึ้น โดนนำ 5ส เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ จะระดมความร่วมมือเครือข่ายภาคธุรกิจที่ได้รับรางวัล 5 ส แห่งประเทศไทย 25 หน่วยงาน ให้คำแนะนำและถวายความรู้แก่พระสงฆ์ สามเณร เพื่อเป็นผู้นำกระแสหลัก เผยแพร่เรื่อง 5 ส ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ไปสู่ชาวบ้าน ชุมชน ที่ใช้พื้นที่สาธารณะของวัด โดยในปีนี้จะคัดเลือกวัดพัฒนาต้นแบบนำร่องดำเนินโครงการ 5 ส 4 วัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีศักยภาพ และสนใจเข้าร่วมโครงการและตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมวัด ในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี

อนุวรรตน์ ยกตัวอย่างการนำ 5 ส มาใช้ในวัด เช่น สถานที่หากมีการจัดการ เป็นระเบียบเรียบร้อย วางระบบให้ดี มีการจัดการขยะ แยกขยะ วางรองเท้าเป็นระเบียบ ห้องน้ำสะอาด ก็จะเกิดความน่ามาใช้พื้นที่ในการมาทำบุญ หรือประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่วัดส่วนการดำเนินการ 5ส คือ การใช้หลักของ“สะอาด” มีจุดมุ่งหมาย คือ “การตรวจสอบ” ขณะที่มีการตรวจสอบ มีการมองแบบ “สะสาง” ว่า มีอะไรผิดปกติ “สูญเปล่า” หรือไม่ พร้อมกับคิดทำให้ “สะดวก” หรือปรับปรุง” ให้ดีขึ้นเมื่อทำได้ก็บันทึกหรือ “สร้างมาตรฐาน” เมื่อเขียนเป็นมาตรฐานก็เคารพปฏิบัติตาม “วินัย” ก็เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น