“สมพงษ์” จวกการศึกษาไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่อาเซียนแค่เปลือก ทำงานแบบตัวใครตัวมัน ตามหลักด้านเศรษฐกิจ 5-10 ปี หากไม่เร่งพัฒนาสุดท้ายการศึกษาไทยจะรั้งท้ายชาติอื่นๆ แนะตัดระบบราชการทิ้ง-ดันเป็นนโยบายหลัก
รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้างานวิจัยด้านการเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ว่า เมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนแล้วนั้น ในด้านการศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อเปิดรับ 4 เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ 1.การสอนข้ามพรมแดน 2.การแลกเปลี่ยนสถาบันการศึกษา 3.แลกเปลี่ยนนิสิต นักศึกษา และนักเรียน และ 4.การแลกเปลี่ยนบุคลากร แต่จนขณะนี้การเตรียมความพร้อมทางด้านสังคม วัฒนธรรมซึ่งเป็นเสาหลักที่ 3 ของอาเซียนและมีเรื่องของการศึกษาเป็นหนึ่งในนั้นยังเดินหน้าเพียงแค่ 30% และอยู่ในระยะที่ 1 ที่เป็นการให้นโยบายแบบกว้าง ไม่มีงบประมาณ และไม่มีการติดตามผลอีกทั้งยังทำงานแบบตัวใครตัวมัน ในขณะที่เสาหลักที่ 2 ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้นเดินนำหน้าเราไปมาก
“วันนี้การเตรียมการเรื่องอาเซียนด้านการศึกษานั้นเป็นเพียงการเตรียมการแค่เปลือก หรือสัญลักษณ์เท่านั้น วันนี้ถึงยังเดินตามหลังเสาหลักที่ 2 ด้านเศรษฐกิจอย่างต้วมเตี้ยมอย่างน้อย 5-10 ปี เพราะฉะนั้นตอนนี้การศึกษาจะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาได้แล้ว ไม่เช่นนั้น เมื่อถึงวันเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเต็มตัว การศึกษาของไทยจะอยู่อันดับสุดท้ายตามหลังชาติอื่นๆ เป็นการเสียหลักและเสียเปรียบดุลการค้าด้านการศึกษาครั้งใหญ่” อาจารย์ประจำคณะครุฯ จุฬาฯ กล่าว
รศ.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เวลาที่เหลืออยู่ต้องทำเรื่องอาเซียนให้เป็นนโยบายสำคัญ และไม่ใช้ระบบราชการเข้ามาบริหารจัดการ จึงจะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะขณะนี้ประเทศพม่า ลาว และจีน คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ด้านการศึกษามากที่สุด โดยเฉพาะจีนเพราะรัฐบาลส่งนักศึกษาจีนมาเรียนในไทย เมื่อเรียนจบก็ยกทุนให้ไม่ต้องกลับประเทศ ก่อนเข้ามาเป็นแรงงานระดับกลาง เหมือนอย่างกรณีที่จัดกีฬาซีเกมส์ให้ประเทศลาว แลกเปลี่ยนกับการยกครอบครัวคนจีนเข้าไปอยู่ตั้งถิ่นฐานในลาว 1 หมื่นครัวเรือน
“นี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต่อไปแรงงานระดับกลางจะเปลี่ยนเป็นคนเวียดนาม จีน สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ เพราะมีทักษะดี และมีวิธีคิดที่แตกต่างจากเด็กไทย ที่ขณะนี้มีพฤติกรรมออกมาค่อนข้างขี้เกียจ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ผมมองเลยว่าการเตรียมบุคลากรในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้านี้ เรายังขาดการเตรียมการ และการวางแผน มีแต่บอกจะทำโน้นทำนี้ แต่กลับไม่ทำไปสู่เป้าหมายนั้นๆ จริง ดังนั้น เมื่อวิจัยแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.จะเสนอให้ทุกแท่งของ ศธ.ได้รู้ความจริงทันที” รศ.สมพงษ์ กล่าว