xs
xsm
sm
md
lg

ลมหายใจสุดท้าย....ศิลปะตัดฉลุลายล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สุกัญญา แสงงาม

นับวัน ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมชาวล้านนา มีแต่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา นี่คือ โจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายต้องนั่งขบคิด ว่า จะใช้กลยุทธ์ไหนเพื่อโน้มน้าวคนรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้สืบสานเคล็ดลับการตัดลายฉลุด้วยปลายกรรไกร
เบญจพล  สิทธิประณีต ปราชญ์ด้านโคมตุงสไตล์ล้านนา
เบญจพล สิทธิประณีต ปราชญ์ด้านโคมตุงสไตล์ล้านนา ณ เบญจพล พิพิธภัณฑ์ จ.เชียงใหม่ บอกว่า กังวลมาก ว่า ศิลปะการตัดฉลุลวดลายล้านนา บนกระดาษ และ ผืนผ้า ด้วยปลายกรรไกรที่ถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่นจะขาดคนรุ่นใหม่สานต่อ ถึงแม้ว่าจะเปิดประตูบ้านสอนให้ฟรีๆ จ่ายเพียงค่ากระดาษเท่านั้น ยังมีคนสนใจเรียนจำนวนน้อยมาก

ปราชญ์ด้านโคมตุงสไตล์ล้านนา เล่าว่า ส่วนใหญ่ที่มาเรียนการทำตุงแบบล้านนาก็จะเป็นนักเรียน นักศึกษา จากกรุงเทพฯ รวมกลุ่มเล็กๆ 4-5 คนแล้วมาเรียนช่วงปิดเทอม หรือช่วงที่มีวันหยุดยาว ส่วนคนพื้นเมืองแทบไม่มีคนสนใจเรียนเลย เพราะมองว่าการตัดฉลุลวดลายล้านนาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา วันสำคัญต่างๆ เท่านั้น ไม่สามารถทำเป็นอาชีพ หรือสร้างรายได้มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
กำลังสาธิตการทำตุงและโคมแบบล้านนา
ผมคิดว่าจะรอให้คนเดินมาเรียนคงไม่ได้แล้ว จึงตัดสินใจเดินทางไปพบผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้บริหาร ตอบรับให้ไปสอนนักเรียน ซึ่งผมถ่ายทอดเทคนิคการตัดลายฉลุล้านนาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนวิธีการตัดลวดลายแบบล้านนา เช่น ลายตุงไส้หมู โคมหูกระต่าย รวมถึงลวดลายที่สื่อถึงวิถีชีวิตชนบท ลวดลายสัตว์วรรณคดี เช่น ลายพืชพรรณธัญญาหาร ลายเครือปลาคู ลายเครืออุดมปัญญา ลายเครือดอกคำก๋ำบี้กู๋ ลายเครือพุดตาน ลายสิบสองราศี ลายรูปนก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ และรู้จักรากเหงาของตัวเองผ่านลวดลายเหล่านี้ ที่สำคัญ ผมหวังลึกๆ ในใจว่าเมื่อนักเรียนได้สัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนาผ่านศิลปะการตัดกระดาษ ผืนผ้า น่าจะมีนักเรียนจำนวนหนึ่งหลงใหลในความสวยงาม อยากศึกษาต่อยอดในระดับที่สูงขึ้น

เบญจพล บอกถึงอุปสรรคที่มักจะทำให้ผู้เรียนถอดใจ เลิกเรียน เพราะศิลปะการตัดกระดาษให้เป็นลวดลายต่างๆ นั้น ต้องมั่นใจ มีนิสัยใจเย็น เป็นคนละเอียดรอบคอบ เนื่องจากตัดผิดเพียงนิดเดียว ลวดลายจะผิดเพี้ยนหรือเสีย จะต้องทิ้งกระดาษที่ตัด พูดง่ายๆ ศิลปะการตัดกระดาษจะผิดพลาดไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม การตัดกระดาษด้วยปลายกรรไกร ก็มีจุดดี ทำให้ผู้ตัดมีสมาธิ ไม่วอกแวกด้วย
สำเร็จแล้ว
ในระหว่างการถ่ายทอดความรู้การตัดกระดาษให้แก่นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจเรียน เบญจพลมักจะย้ำว่า การตัดกระดาษให้มีลวดลายต่างๆ อาจจะไม่สร้างรายได้มากนัก เพราะจำหน่ายได้เฉพาะเทศกาล แต่สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ แต่ถ้าหากนำลายฉลุมาประยุกต์ให้ทันสมัยก็สามารถจำหน่ายได้

เบญจพล ปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดของมรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้ว่า ก่อนหน้านี้ จะใช้ศิลปะการตัดกระดาษในการสร้างเรื่องราวประดับตามวัด วิหารต่างๆ หรือนำไปประดับบนโคม ตุง ผืนผ้า เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ต่อมาระยะหลัง ผมนำเอาลายฉลุดั้งเดิมล้านนา มาตกแต่งทำกรอบรูป โปสการ์ด สกรีนลงบนเสื้อ โคมไฟ โคมประดับตามร้านอาหาร และอื่นๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน หรือตรงตามความต้องการของลูกค้า จนกระทั่งปัจจุบันจะมีลูกค้าสั่งทำโคม ตุง ตลอดจนของตกแต่งบ้าน อย่างต่อเนื่อง จนผลิตไม่ทัน

“ผมผ่านงานบางส่วนให้ผู้เฒ่าผู้แก่ และลูกศิษย์ ช่วยทำ โดยผมจะขึ้นรูปให้ก่อน แล้วส่งให้ติดกระดาษหรือผ้า ส่วนลวดลายผมจะตัดตามที่ลูกค้าระบุ เขียนลวดลายด้วยสีอะคริลิกด้วยตัวเอง”เบญจพล เล่าและบอกด้วยว่า แม้ว่าลูกค้าจะสั่งโคม ตุง หรือ ของตกแต่งบ้าน ก็ไม่ได้ทิ้งลวดลายล้านนา แต่พยายามแทรกไว้ตามจุดต่างๆ นอกจากนี้ ลาย 12 ราศี มีความอ่อนช้อยสวยงาม ซึ่งคนส่วนใหญ่ชื่นชอบแล้วนิยมซื้อกลับไป

เบญจพล เล่าด้วยความปลื้มใจว่า ล่าสุด ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 ผ่านตุง โคม มาจัดแสดงที่ห้างสยามพารากอน ด้วย

อย่างไรก็ตาม...วันนี้ ศิลปะการตัดกระดาษด้วยปลายกรรไกร กำลังรอคนสนใจมาต่อลมหายใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น