“สุชาติ” มั่นใจการร่วมมือครูสอนดีกว่า 1 หมื่นคน เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาต่อเนื่อง เชื่อไม่ใช่เรื่องยาก ย้ำ รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพร้อมยกระดับคุณภาพสู่สากร ขณะที่ สสค.จัดงานมอบรางวัลครูสอนดี พร้อมมอบทุนให้แก่ครู 549 คนๆ ละ 2.5 แสนบาท เพื่อทำงานยกระดับคุณภาพเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาต่อเนื่อง 18 เดือน พร้อมเผยข้อมูลเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ในการดูแลของครูสอนดีกว่า 7 หมื่นคน ในจำนวนนี้กว่า 3 หมื่นประสบปัญหายากจนเป็นอันดับ 1 ด้าน “นายสามารถ” ผู้รับทุนจาก จ.ลำพูน เผย ดีใจที่ได้รับเลือกและจะนำทุนที่ได้ไปสนับสนุนพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานมอบเกียรติบัตรแก่ครูผู้รับทุนครูสอนดี ซึ่งมาจากครูสอนดีด้อยโอกาส จำนวน 549 ทุน และรางวัลจังหวัดดีเด่น ให้แก่ 10 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยภูมิ น่าน เพชรบุรี ภูเก็ต ยะลา ลำพูน สุรินทร์ และ อำนาจเจริญ ที่มีกระบวนการคัดเลือกดีเด่น ดำเนินการงานอย่างมีส่วนร่วมและโปร่งใส โดยมี ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยนั้นยังเผชิญปัญหาเด็กและเยาวชน ขาดโอกาสทางการศึกษา จากข้อมูลของสารสนเทศทางการศึกษา ศธ.ระบุว่า ในปี 2551 พบว่า ยังมีเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ประมาณ 2-3 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรเด็กและเยาวชนไทยทั้งระบบ ตั้งแต่เด็กที่กำลังเผชิญปัญหาความยากจน ถูกบังคับใช้แรงงาน อยู่พื้นที่ชนบทห่างไกล อยู่ในสถานพินิจ และยังไม่รวมถึงที่มีภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ เช่น แอลดี สมาธิสั้น ออทิสติก ขณะเดียวกับมีข้อมูลจากสถาบันรามจิตติ ในปี 2554 พบว่า มีแด็กจำนวนเกือบ 2 ล้านคน ที่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงแม้ยังอยู่ในระบบการศึกษา แต่ก็เสี่ยงต่อการออกกลางคัน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ควบคู่กับการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้สู่มาตรฐานสากลไปพร้อมกัน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ สสค.ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ชุมชน และจังหวัดกว่า 1.5 แสนคน เพื่อร่วมกันคิดกระบวนการเพื่อคัดเลือกครูสอนดี จนได้ครูสอนดีมาจำนวน 18,871 คน ซึ่งรัฐบาลจะพยายามสานต่อความร่วมมือกับเครือข่ายครูสอนดีเหล่านี้เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจได้ว่าการขยายผลการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าวว่า ทาง สสค.ได้ร่วมกับคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีระดับจังหวัด ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากสังคมและชุมชนท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันคัดเลือกครูที่มีผลงานเชิงประจักษ์ จนได้ครูสอนดีจำนวนทั้งสิ้น 18,871 คน ที่อยู่ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ในจำนวนนี้มีครูสอนดีที่สอนเด็กด้อยโอกาส ซึ่ง สสค.ได้จัดงบประมาณเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการทำงานเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสต่อไปอีก จำนวน 549 คน โดยจะได้รับทุนครูสอนดี รายละ 250,000 บาท สำหรับดำเนินการในระยะเวลา 18 เดือน นอกจากนี้ โครงการคัดเลือกครูสอนดีได้มีการคัดเลือกจังหวัดที่มีกระบวนการคัดเลือกดีเด่น โดยดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม และมีความโปร่งใส จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยภูมิ น่าน เพชรบุรี ภูเก็ต ยะลา ลำพูน สุรินทร์ และ อำนาจเจริญ ซึ่งจังหวัดดีเด่นเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมจะร่วมเป็นจังหวัดนำร่อง โดยรับงบประมาณเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และการยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วยความริเริ่มของพื้นที่เอง จังหวัดละ 3 ล้านบาท และยังได้มีการมอบรางวัลจังหวัดด้านการสื่อสารดีเด่น ที่นำเสนอเนื้อหาโครงการครูสอนดีชัดเจนต่อเนื่อง และก่อให้เกิดเครือข่ายการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี ยะลา เพชรบุรี และ สุพรรณบุรี
ทั้งนี้ จากผลสำรวจจำนวนเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ภายใต้การดูแลของครูสอนดี ในปี 2555 โดยสสค.พบว่า มีจำนวนเกือบ 70,000 คน อันดับ 1 มาจากเด็กยากจน มีจำนวนสูงถึง 33,523 คน ตามด้วยเด็กพิการทางร่างกายและสมอง จำนวน 16,111 คน เด็กในพื้นที่ห่างไกล 3,043 คน เด็กถูกทอดทิ้ง 1,488 คน เด็กจากสถานพินิจ 1,280 คน ตามลำดับ ที่เหลือมีทั้งเด็กติดยาเสพติด ลูกแรงงานต่างด้าว แม่วัยรุ่น ถูกบังคับค้าประเวณี และติดเชื้อ HIV โดยครูที่สอนเด็กด้อยโอกาสต้องการให้สนับสนุนการทำงานในด้านนวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งอุปกรณ์เทคโนโลยี และสื่อ ICT มากที่สุด รองลงมา ต้องการงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานรวมถึงเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส และ บุคลากร วิทยากร ครูช่วยสอน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการทำงาน ตามลำดับ
ด้าน นายสามารถ สุทะ ครูในห้องเรียนเรือนแพ ร.ร.บ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน หนึ่งในผู้รับทุนครูสอนดี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่คนในชุมชนคัดเลือกให้เป็นครูสอนดี และยังได้รับทุนครูสอนดีเพื่อมาดูแลลูกศิษย์ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวประมงบนเขื่อนภูมิพล ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึง ป.6 การเรียนการสอนจึงมุ่งให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเด็กที่อยู่บนเรือนแพ เช่น ควรใช้วิถีชีวิตแบบไหน ควรประกอบอาชีพอะไร โดยใช้ชีวิตอยู่กับลูกศิษย์ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งขับเรือ กินนอนบนห้องเรียนเรือนแพ ทำอาหารให้เด็กรับประทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังก่อนนอน จึงต้องเป็นทุกอย่างทั้งครู พ่อแม่ ภารโรง จนถึงพ่อครัว ซึ่งที่นี่ยังขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากมีแผงโซลาร์เซลล์เพียง 1 แผง จึงต้องการแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอ และขาดแคลนห้องสมุดที่มีสื่อการเรียนการสอนและหนังสือ หากได้รับทุนสนับสนุนก็จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้ดีขึ้น