พ่อแม่แห่พาลูกรักษาโรคมือเท้าปาก-อาการคล้ายที่ รพ.เด็ก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% สธ.มั่นใจเอามือเท้าปากอยู่ แต่ห่วงไข้เลือดออกมากกว่า กรมการแพทย์ออกคู่มือดูแลเน้นกลุ่มวัยรุ่น หลังพบตัวเลขตายสูง
วันนี้ (30 ก.ค.) พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า พ่อแม่ผู้ปกครองนำลูกที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก และลักษณะอาการคล้ายโรคมือเท้าปากเข้ารับการรักษาตัวที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 20% โดยทั้งหมดสามารถรักษาหาย ทั้งนี้ เด็กที่เข้ารับการรักษาบางรายมีแค่ตุ่ม หรือผื่นที่ปาก หรือรอบปาก ไม่เกิดบริเวณมือและเท้า ซึ่งในทางการแพทย์ไม่ถือว่าเป็นโรคมือเท้าปาก แต่เป็นอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่จะมาเพราะเป็นไข้ ไอ มีน้ำมูก และมีผื่น
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า โรคมือเท้าปาก เชื่อว่า จะสามารถเอาอยู่ แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ โรคไข้เลือดออก เนื่องจากพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำคู่มือแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะบางครั้งผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และวัยรุ่นอาจถูกละเลย และมองข้าม จากการที่คิดว่าโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะพบในเด็ก กว่าจะมาพบแพทย์อาการอยู่ในระดับรุนแรงแล้ว จนทำให้เสียชีวิต
“ผู้ที่มีไข้สูงติดต่อกัน 3-4 วัน อาการไม่ใช่ไข้หวัด แต่มีไอบ้าง มีจุดเลือดออกผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล อย่าชะล่าใจว่าเป็นผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นแล้วจะไม่เป็นอะไรหากเป็นไข้เลือดออก การเข้ารับการรักษาช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ และผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆเพราะไข้เลือดออกที่ทำให้อาการรุนแรงส่วนหนึ่งเพราะขาดน้ำ” พญ.วิลาวัณย์ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 24 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยสะสม 25,351 ราย มีผู้เสียชีวิต 27 ราย ในจำนวนนี้เป็นวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง15-24 ปี 13 ราย วัยเด็ก หรืออายุ 5-14 ปี 14 ราย อัตราป่วยอยู่ที่ 39.69 ต่อแสนประชากร อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.04 ต่อแสนประชากร