xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย แซ่เจีย” ฟันเฟืองคุณภาพ นักศึกษานิเทศก์ “ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง”/ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

“ถ้างานที่เราทำ ทำแล้วคนที่เกี่ยวข้องยอมรับเราก็ไม่ท้อและสามารถทำต่อไปได้ และตั้งใจจะทำอีกหลายอย่าง แต่หากว่างานที่เราทำไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยคนเกี่ยวข้องเห็นว่าไม่มีประโยชน์ไม่มีค่า สุดท้ายเราก็ต้องพิจารณาตนเอง” ถ้อยคำจากใจของ นายสมชัย แซ่เจีย ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่ เขต 4

อาจารย์สมชัย ในวัย 54 ปี กับการทำงานในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ยาวนานมากกว่า 24 ปี ที่แม้ว่าเวลานี้จะต้องเผชิญกับอาการป่วยของโรคอาร์พี ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ค่อยๆ ทำลายจอประสาทตาอย่างช้าๆ จนกระทั่งตาบอดในที่สุด เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสบายๆ ว่า “อาการป่วยเริ่มส่งสัญญาณมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มสังเกตได้ว่าอ่านหนังสือไม่ชัดภาพจะพร่ามัวต้องใช้เลนส์ช่วยอ่าน ขณะเดียวกันการมองเห็นก็ค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งปัจจุบันนี้มองแทบไม่เห็น แต่ทุกวันนี้ก็ยังทำงานอยู่ ก็มีอุปสรรคบ้าง เพราะบางทีเราเดินทางไม่สะดวกแต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ผู้บริหารในการดูแลรับ-ส่ง หรือพวกงานเอกสารก็มีคนช่วยดูเพราะเรามองไม่เห็น แต่เรายังทำงานได้เพราะส่วนใหญ่ใช้การ “ฟัง”

“ก่อนหน้าที่เริ่มป่วยนั้น ก็ทำงานค่อนข้างเยอะ ทำเกือบทุกวัน เพราะบทบาทหลักของ ศึกษานิเทศก์ คือ การช่วยสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนสูงขึ้น เพื่อให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ที่สำคัญเราต้องเป็นตัวกลางประสานและเชื่อมโยงนำนโยบาย หรือโครงการต่างๆ ที่ถูกกำหนดจากส่วนกลางซึ่งมีความสำคัญระดับประเทศไปถ่ายทอดสู่โรงเรียน ศึกษานิเทศก์แต่ละคนก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการแตกต่างกันไป และจะมีโรงเรียนในการดูแลช่วยเหลือ ส่วนตัวผมมีโรงเรียนในการดูแลอยู่ประมาณ 8-9 โรง งานสำคัญของผม คือ ดูแลพัฒนาเรื่องการส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ต้องเข้าไปแนะนำเพื่อให้ครูมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ประสานงานเชิงวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”

อาจารย์สมชัย ย้อนเส้นทางในอดีตให้ฟังอีก ว่า มาเริ่มทำงานสายศึกษานิเทศก์ ตั้งแต่ปี 2546 ก่อนหน้าก็เป็นครูสอนหนังสือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เพราะอยากจะเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้ตนเองมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นก็เลยมาทำงานสายนี้ โดยใจจริงช่วงแรกอยากจะทำงานสาย ศึกษานิเทศก์ เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และปรับเข้ามาสู่งานสายบริหารโรงเรียน แต่เมื่อมาทำงานแล้วได้เห็นปัญหา ก็มาคิดว่าหากกลับไปทำงานด้านบริหารนั้น โอกาสทำงานวิชาการน้อย เพราะการทำงานของศึกษานิเทศก์ นั้นเราได้มีโอกาสทำงานกับเด็ก ทำงานกับครู มีโอกาสได้พัฒนาและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนให้มากขึ้น และตั้งใจอยากจะทำงานตรงนี้เพื่อช่วยเหลือแก่ครู นักเรียน และโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

“งานที่ผมทำนั้นเป็นงานที่ต้องพยายามจะเปลี่ยนแปลง คือ ช่วยให้ครูเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน ไม่ใช่งานง่ายเป็นงานยาก เมื่อทำแล้วจะไม่ต่อเหมือนทำครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลา เพราะปัญหาของครูไทยที่พบ คือ ยังสอนแต่ในแบบเดิมๆ เน้นท่องจำ สอนเพื่อเตรียมสอบเพื่อให้เด็กได้คะแนนเยอะๆ ซึ่งยังเป็นปัญหากับการศึกษาบ้านเรา ขณะเดียวกัน เวลาของครูที่จะอยู่ในห้องเรียนน้อยลง โดยเฉพาะครูประถมนั้นต้องรับผิดชอบงานอื่นๆ เยอะมาก ทำให้งานบางอย่างแทนที่จะเร็วก็กลับช้าลง เพราะฉะนั้น ตลอดมาการทำงานของผมก็จะเน้นการลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เห็นว่าครูสามารถปรับวิธีการเรียนการสอนโดยเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางได้หรือยัง หรือครูยังประสบปัญหาโดยยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเด็กอยู่ เพราะหากเราไม่ลงเลยจะไม่ทราบปัญหา ซึ่งจากที่ทำมาและพูดคุยกับครูหลายคนที่ร่วมทำงานใกล้ชิด ส่วนใหญ่ก็รู้สึกพอใจกับการเปลี่ยนแปลงการสอน เพราะเห็นได้จากเด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ และเห็นพัฒนาการของเด็กที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน หลายคนบอกว่าทำงานมาเป็นครู 20 ปีไม่เคยทำพอมาปรับเปลี่ยนก็เห็นว่าได้ผลชัด คิดว่าตรงนี้เป็นคำตอบของการศึกษา” อาจารย์สมชัย กล่าว

อาจารย์สมชัย ยังเล่าถึงการทำงานที่น่าภูมิใจ ว่า ในช่วงเริ่มป่วยและตายังมองเห็นมากกว่านี้ ได้มีโอกาสร่วมทำโปรเจคหนึ่งที่ดีมากเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยใช้วิธีการจัดการศึกษาแบบแอกทีฟเลิร์นนิง คือ เน้นลงมือปฏิบัติส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ในครั้งนั้น นางเบญลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ก็ลงพื้นที่ทำโปรเจกต์นี้ซึ่งการทำงานก็ค่อนข้างหนักแต่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก

“ในช่วงหนึ่งที่ป่วยหนักขึ้นประกอบกับต้องสูญเสียแม่บ้านด้วยโรคมะเร็งก็รู้สึกท้อถอย และได้ตัดสินใจยื่นขอเออลีรีไทร์ 2 ครั้งแต่ผู้บริหาร และเพื่อนก็ยับยั้งบอกว่าอยากให้ช่วยกันทำงานไปก่อน เพราะงานที่ผมทำต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้แม้จะมองแทบไม่เห็นแล้วก็ยังทำงานตามปกติ คิดว่า อุปสรรคก็คืออุปสรรค จะมีก็แต่เกรงใจผู้ร่วมงานที่บางครั้งอาจจะขาดความคล่องตัวในการทำงาน เช่น งานเอกสารที่ผมไม่สามารถทำเองได้ แต่หากได้รับมอบหมายงานใดผมก็ยังคิดแก้ไขปัญหาได้ ก็มองว่าเราอาจจะทำเองไม่ได้แต่เราคิดได้ เรามีประสาทสัมผัส 6 อย่างแม้จะเสียไปหนึ่ง แต่ยังเหลืออีก 5 อย่างน่าจะพอทำงานได้ สำหรับโรงเรียนที่รับผิดชอบดูแลอยู่นั้นแม้จะไม่ค่อยได้เดินทางลงพื้นที่ก็จะใช้วิธีการโทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา”อาจารย์สมชัย เล่าพร้อมบอกแผนการต่อไปว่า กำลังวางแผนว่าจะไปเรียนรู้ทักษะสำหรับผู้พิการทางสายตาเพื่อช่วยเหลือตัวเอง และเพื่อการทำงานด้วย

ในฐานะที่ทำงานเพื่อพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของครู อาจารย์สมชัย ฝากถึงคุณสมบัติของครูยุคใหม่ ว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยสิ่งที่ครูทุกคนต้องมี คือ จิตวิญญาณที่รักเด็ก รักเหมือนลูกหลานตนเอง รักเมตตาเข้าใจเด็ก ในยุคใดก็แล้วแต่ต้องมีเมตตา มีความรัก ปรารถนาดีให้เด็กพัฒนาเติบโตได้ดีตามธรรมชาติแต่ละคน สอนให้เขาเรียนรู้สำเร็จในชีวิตการเรียนการศึกษา และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ เด็กได้รับพัฒนาเป็นคนเก่ง คนดี ของสังคม และสามารถพึ่งความคิดอ่านของตนเองได้ และรับผิดชอบต่อสังคมที่ตอนนี้ละเลยไปเยอะ นอกจากนี้ ครูยุคใหม่ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่มีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องรู้จักจัดการความรู้มากมายหลากหลายนำไปถ่ายทอดสู่เด็กให้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยเด็กให้วิ่งตามเทคโนโลยีแต่ขาดความรู้รอบตัวหรือที่อยู่ใกล้ตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น