xs
xsm
sm
md
lg

“หมอสุรวิทย์” เสนอทุ่ม 70 ล.ลดโรคพยาธิใบไม้ตับ ในอีสาน-พัฒนาแพทย์ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอสุรวิทย์” เสนอ 2 โครงการ สธ.เข้า ครม.สัญจรที่สุรินทร์ วงเงินเกือบ 70 ล้านบาท ลดโรคพยาธิใบไม้ตับในอีสาน และพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในภาวะภัยพิบัติ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่โรงพยาบาลโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับฟังบรรยายสรุปโครงการพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 นี้

นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้เตรียมเสนอ 2 โครงการ วงเงินเกือบ 70 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบกระจายทั้ง 20 จังหวัด แนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ใช้งบประมาณ 10.5 ล้านบาท และ 2.โครงการนำร่องพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขรองรับภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน งบประมาณ 56 ล้านบาท

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี มีเป้าหมายนำร่องดำเนินการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.107 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 11 แห่ง ในจังหวัดสุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และขยายต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทุกระดับ โดยจะตรวจคัดกรองหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ระบบดิจิตอล ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป ดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2555-2556

ทั้งนี้ สาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี ส่วนใหญ่เริ่มจากเป็นพยาธิใบไม้ตับมาก่อน เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคแล้วจะมีอายุอยู่เฉลี่ยเพียง 5 ปี หากเข้ารับการรักษาช้า จะทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ผลการสำรวจทางระบาดวิทยา ใน 75 จังหวัด ในปี 2552 พบว่า คนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการติดโรคพยาธิใบไม้ตับสูงกว่าที่อื่นๆ สาเหตุเกิดจากมีค่านิยมกินอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ด ดิบๆ สุกๆ เช่น ก้อยปลาดิบ ลาบปลาดิบ ปลาส้ม ปลาร้าดิบ และมีความเชื่อว่า โรคพยาธิใบไม้ตับมียารักษาแล้ว จึงยังคงกินดิบๆ สุกๆ เหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมถ่ายอุจจาระนอกส้วม หากไม่ดำเนินการควบคุมโรคอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้สถานการณ์โรคพยาธิใบไม้ตับของไทยกลับมาเป็นปัญหารุนแรงขึ้นได้อีก

สำหรับโครงการนำร่องพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรองรับภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นโครงการเร่งด่วน 1 ปี เพื่อรองรับสถานการณ์เกิดภัยพิบัติในประเทศ ที่มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว และภัยอื่นๆ จะต้องเตรียมพร้อมรับมือทั้งในด้านการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการให้บริการการแพทย์และการสาธารณสุข ดูแลผู้เจ็บป่วย การควบคุมป้องกันโรคระบาด และภัยสุขภาพที่มากับภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉินทั้งในประเทศ และตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ให้มีประสิทธิผลทันการ จึงได้นำร่องใน 4 จังหวัดก่อน ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ

ตามโครงการนี้ จะมีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การส่งต่อ และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ หรือพื้นที่ประสบภัย หรือจากโรงพยาบาลเล็กไปสู่โรงพยาบาลใหญ่ เพื่อลดอัตราตาย และอันตรายแทรกซ้อนของผู้ป่วย ให้ลดน้อยลงที่สุด โดยจะจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินขนาดใหญ่พิเศษ หรือเรียกว่า ซูเปอร์ แอมบูแลนซ์ (Super Ambulance) มีเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ช่วยชีวิต เตียงผู้ป่วย 6 เตียง อุปกรณ์สื่อสาร จำนวน 4 คัน มอบให้โรงพยาบาลมหาราชนคราชสีมา โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และโรงพยาบาลชัยภูมิ จัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินขนาดมาตรฐาน 4 คัน และรถทีมแพทย์สนามฉุกเฉิน หรือดีเมิร์ท (D-MERT) ขนาดใหญ่ จุคนได้ไม่ต่ำกว่า 20 คน และเครื่องมือแพทย์ อีกจำนวน 6 คัน มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 4 แห่งที่กล่าวมา ซึ่งรถพยาบาลฉุกเฉินดังกล่าว จะสามารถไปช่วยเหลือจังหวัดต่างๆ และภูมิภาคอื่นๆ ในกรณีที่ประเทศประสบภาวะภัยพิบัติครั้งใหญ่ นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น