xs
xsm
sm
md
lg

กทม.สร้างเครือข่ายสถานพยาบาลหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิตก! ไทยติด 1 ใน 22 ประเทศ ป่วยวัณโรคมากที่สุด กทม.รับแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่กว่า 1 หมื่นราย เร่งพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขและสร้างเครือข่ายสถานพยาบาลค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุก

วันนี้ (19 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัส แกรนด์ฮาเวิร์ด เขตบางคอแหลม พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการควบคุมป้องกันวัณโรคในโรงพยาบาลพื้นที่ กทม.โดยมีแพทย์ผู้ดูแลคลินิกวัณโรค พยาบาล และผู้ประสานงานวัณโรค จากโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุข กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย และสำนักวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข เข้ารวมงาน

นพ.โกวิท ยงวานิชกิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.รายงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อวัณโรค ว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศทั่วโลก ที่ยังมีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุด ซึ่งในส่วนของพื้นที่ กทม.คาดการณ์ว่า แต่ละปีจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทรวมกัน 10,515 ราย โดยเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อ 5,084 ราย ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถรักษาหายได้ ร้อยละ 78 ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า จะต้องรักษาให้หายมากกว่าร้อยละ 87 จึงจะลดปัญหาการแพร่กระจายเชื้อได้ ซึ่งถือว่าความก้าวหน้ายังต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนโลกด้านวัณโรค (Single Stream Funding หรือ SSF) มีเป้าหมายดำเนินการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ สถานพยาบาลภาครัฐเอกชน และศูนย์บริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงชุมชน สถานบริการ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ 50 เขต

ด้าน พญ.มาลินี กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์วัณโรคในกรุงเทพฯ จะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีความกังวลที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้รับรางวัลมหานครที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกต่อเนื่องกัน 3 ปี แต่ยังมีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาสาธารณสุขและภาพลักษณ์ของเมือง ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ กทม.จะต้องพัฒนาบุคลากรแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการควบคุมป้องกันวัณโรค ให้มีการรักษา และการดูแลผู้ป่วยวัณโรคให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันตามมาตรฐานการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ และเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกันอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ถือเป็นภารกิจของสถานพยาบาลทุกแห่งในการรักษาและค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ที่มาเข้ารับบริการ อีกทั้งค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาวัณโรคเดินหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถลดจำนวนผู้ป่วย และป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ รวมถึงทำให้กรุงเทพมหานครปลอดวัณโรคต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น