xs
xsm
sm
md
lg

ระวังติดเชื้อน้ำพ่นจากช้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนคนภูมิต้านทานโรคต่ำ 3 กลุ่ม “เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ป่วยโรคเรื้อรัง” เลี่ยงการสัมผัสน้ำที่พ่นจากช้างโดยตรง โอกาสติดเชื้อหรือป่วยสูง

วันนี้ (28 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับช้าง ซึ่งกำลังตรวจพิสูจน์ว่าจะป่วยเป็นวัณโรคหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า ปกติโรคในสัตว์ไม่ใช่ทุกโรคจะมาติดคน และบางโรคที่สามารถติดคนได้ ก็ไม่ง่ายนักที่โรคจากสัตว์จะมาติดคนได้ โดยเฉพาะวัณโรคในช้าง ซึ่งตามทฤษฎีสามารถติดคนได้ แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าคนติดวัณโรคจากช้าง เพราะโดยปกติเชื้อวัณโรคจะอยู่ในสิ่งแวดล้อม ในอากาศอยู่แล้ว และติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจเท่านั้น โดยการไอ หรือจามรดกัน ซึ่งปัจจุบันก็พบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยจะมีเชื้อวัณโรคในร่างกายอยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏอาการป่วย ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำจึงจะป่วยเป็นวัณโรค
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีช้างเล่นน้ำสงกรานต์จะนำเชื้อวัณโรคมาสู่คนหรือไม่นั้น ตามปกติปางช้างที่มีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำสงกรานต์จะเป็นปางช้างที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย จะต้องได้รับมาตรฐานปางช้างจากกรมปศุสัตว์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมาตรฐานที่ว่าต้องมีการตรวจสุขภาพของพนักงาน ควาญช้าง และตัวช้างเป็นประจำทุกปี ถ้าพบช้างป่วยจะได้รับการรักษาจากสัตวแพทย์ประจำปางช้าง หรือสัตวแพทย์ที่อยู่ใกล้ในทันที และช้างที่ป่วยจะให้งดกิจกรรมที่ใกล้ชิดกับคน เช่น ออกมาแสดงให้คนดู หรือเล่นน้ำสงกรานต์ เป็นต้น สำหรับช้างที่สงสัยว่าป่วยจะมีการเก็บน้ำล้างงวงมาตรวจหาเชื้อทุก 3 เดือน ถ้าไม่พบเชื้อหลายครั้งติดต่อกัน จึงจะแน่ใจว่าไม่มีเชื้อโรค

ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับประชาชนในกรณีดังกล่าว ขอให้กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อวัณโรคง่ายกว่าคนอื่น 3 กลุ่ม คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เบาหวาน โรคโลหิตจาง เป็นต้น ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำที่พ่นออกมาจากช้างโดยตรง หรือคลุกคลีกับช้างเป็นเวลานานๆ เพราะมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ หรือป่วยสูงกว่าทุกกลุ่ม ส่วนช้างที่นำมาเล่นสงกรานต์ต้องเป็นช้างที่มีสุขภาพดี ไม่ป่วย และน้ำที่เอามาพ่นต้องสะอาด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า อาการของโรควัณโรคจะเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ไอเรื้อรังเกินกว่า 2 อาทิตย์ ซึ่งประชาชนมักเข้าใจผิดว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา มักซื้อยามากินเอง และอาการของโรคนี้ไม่รุนแรง เช้ายังทำงานได้ จึงไม่ได้ไปพบแพทย์และแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ โดยเชื้อจะอยู่ในเสมหะ ลอยไปในอากาศ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาฟรี และถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น