สธ.ยัน พร้อมรับเด็กเขมรป่วยโรคมือเท้าปากเข้ารักษาในโรงพยาบาล และให้การดูแลรักษาตามหลักมนุษยธรรมเช่นเดียวกับคนไทย ส่วนยอดสะสมเด็กไทยป่วยในรอบ 6 เดือนนี้ พบกว่า 10,000 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต แนะวิธีป้องกันเน้นความสะอาด และล้างมือบ่อยๆ
วันนี้ (12 ก.ค.) นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ว่า ได้กำชับไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศให้ติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา ทั้ง 7 จังหวัด เช่นที่ จ.สุรินทร์ เท่าที่ติดตามขณะนี้ รพ.ที่อยู่ใกล้เคียงอาจมีผู้ป่วยจากกัมพูชาเข้ามาตรวจรักษาบ้าง แต่ถือว่าไม่มากนัก และมีอาการไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยได้ให้การดูแลรักษาอย่างเต็มที่ตามหลักมนุษยธรรมเช่นเดียวกับคนไทย และระบบการควบคุมป้องกันโรคของไทยเข้มแข็งอยู่แล้ว โดยหากพบผู้ป่วยในพื้นที่ใดจะส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคทันที เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชน ขอให้อย่าวิตกกังวลจนเกินไป
นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2551 มีการพบประปรายเสียชีวิต 2 ราย ปี 2552 เสียชีวิต 4 ราย ปี 2553 ไม่พบผู้เสียชีวิต ปี 2554 เสียชีวิต 6 ราย ส่วนส่วนในปี 2555 นี้ พบผู้ป่วยประปราย แต่ไม่ถึงกับเกิดการระบาด โดยตัวเลขสะสมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 10,000 กว่ารายเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิต
“โรคมือเท้าปากในไทยส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคพวกคอกซากี สายพันธุ์เอและบี พวกนี้มักจะไม่รุนแรง มีอาการไข้สูง มีตุ่มขึ้นในปาก มีผื่นบริเวณมือและเท้า อาจมีที่บริเวณก้นกบบ้างจะเป็นอยู่ประมาณ 3-5 วันก็จะหาย ทั้งนี้ โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ติดต่อกันทางการสัมผัส โดยเชื้อจะอยู่ในอุจจาระและบริเวณแผล ฉะนั้นการป้องกันที่ดีและทำได้ไม่ยาก คือ การรักษาความสะอาด และสุขลักษณะของเด็ก ต้องหมั่นให้เด็กเล็กล้างมือบ่อยๆ และดูแลความสะอาดของสถานที่ ของเล่นของเด็ก เป็นต้น” รมช.สาธารณสุข กล่าว