เครือข่ายเภสัชฯ บุก สธ.พบ “วิทยา” เร่งคลอดกฎกระทรวงคุมเข้มร้านขายยา ส่งเสริมให้มีเภสัชฯ ประจำร้าน
วันนี้ (9 ก.ค.) ภก.ณรงค์ชัย จันทร์พร ผู้ประสานงานเครือข่ายเครือข่ายส่งเสริมให้เภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาตลอดเวลาการทำการ กล่าวในระหว่างการเดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า การมายื่นจดหมายถึง รมว.สธ.ครั้งนี้ ทางเครือข่ายฯเครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้ดำเนินโครงการผู้บริโภคปลอดภัย เภสัชกรไทยไม่แขวนป้าย, แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) สมาคมเภสัชกรชุมชน (ประเทศไทย) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาเภสัชกรรม เพื่อเรียกร้องให้ รมว.สธ.เร่งรัดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาฉบับปัจจุบันที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2529 ว่า ร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการใช้ยา เช่น การใช้ยาอันตราย การแพ้ยา การกินยาสเตียรอยด์ ซึ่งที่ผ่านมาเกี่ยวกับการมีเภสัชกรประจำรานขายยาฯ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยได้สำรวจมาแล้วว่าร้านขายยากว่า 80% ไม่มีเภสัชกรประจำร้าน
“นอกจากเรื่องการคุมเข้มเรื่องเภสัชกรประจำร้านแล้วยังมีเรื่องของการเร่งรัดการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการคุมเข้มการซื้อขายยา ในร้านในฐานะสถานประกอบวิชาชีพการขายยา เช่น การติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย การรายงานสถานการณ์ยา การร่วมพิจารณาอาการของผู้ป่วย รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคยาของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบในเรื่องการใช้ยาเกินความจำเป็น ยาเหลือใช้ของประชาชน ที่สำคัญอาจไม่ต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายทางเหมือนกับกรณีไข่แลกยาในขณะนี้ด้วย” ภก.ณรงค์ชัยกล่าว
ด้าน ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ร้านขายยากว่า 20,000 แห่ง มีร้านที่มีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลาทำการแค่ไม่เกิน 2,500 แห่ง อีก 8,000 แห่งมีการแขวนป้ายไว้ว่ามีเภสัชประจำร้าน แต่ตัวเภสัชไม่อยู่ โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทางสภาก็มีการคุมเข้มเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยหากพบว่าใน 1 ปี ร้านขายยาใดไม่มีเภสัชฯ โดยดำเนินการไปแล้วกว่า 300-400 ราย ประจำร้านต่อเนื่อง 3-4 ครั้งก็จะดำเนินการพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นเวลา 1 ปี และหากทำซ้ำก็จะเพิกถอนใบอนุญาต แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีรายใดถูกเพิกถอน อย่างไรก็ตาม อยากให้ รมว.สธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นผลต่อผู้บริโภคโดยตรง