xs
xsm
sm
md
lg

อย.ติวเข้มวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.ระดมหลายหน่วยงานจัดโครงการอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ แก่ผู้จบการศึกษาใหม่ และเริ่มเข้าปฏิบัติงานภาครัฐในสายวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการในการจัดหาและซื้อวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับ ดูแล และจัดหาวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ ได้แก่ ยากลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ที่ใช้ในการบรรเทาอาการปวด เช่น มอร์ฟีน, เฟนตานิล และยากลุ่มเมทิลฟีนิเดท (Methylphenidate) ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งสถานพยาบาลทันตกรรม และสถานพยาบาลสัตว์ แต่ที่ผ่านมา อย.มักพบปัญหาในการสั่งซื้อวัตถุเสพติดที่นำไปใช้ในทางการแพทย์ เนื่องจากผู้สั่งซื้อส่วนใหญ่จะไม่ทราบระเบียบและข้อบังคับที่กำหนด จึงทำให้ผู้สั่งซื้อปฏิบัติไม่ตรงตามระเบียบที่กำหนด เช่น ไม่ส่งรายงานการใช้วัตถุเสพติด หรือทำรายงานการใช้วัตถุเสพติดไม่ถูกต้อง จึงทำให้การสั่งซื้อวัตถุเสพติดเพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ไม่ได้รับความสะดวกและเกิดการล่าช้า ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจัดอบรมให้ความรู้ด้านวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ ภายใต้ชื่อ “โครงการอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ แก่ผู้จบการศึกษาใหม่ และเริ่มเข้าปฏิบัติงานภาครัฐในสายวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ประจำปีงบประมาณ 2555” โดยวิทยากรจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ International Narcotic Control Board คณะแพทย์ศาสตร์ องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการที่ถูกต้อง อาทิ การบริหารยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) อย่างปลอดภัย ปัญหาและอุปสรรคของการเข้าถึงยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid analgesics) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา วัตถุเสพติดชนิดใหม่ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ข้อพึงระวังในการใช้วัตถุเสพติดตามกฎหมาย กระบวนการจัดหาวัตถุเสพติดทางการแพทย์ของสถานพยาบาล การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในระบบหลักประกันสุขภาพ การสร้างความรู้จากงานประจำตัวด้วยระบบ UCHA เป็นต้น

รองเลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า การอบรมในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง และป้องกันการรั่วไหลของวัตถุเสพติดไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อผู้บริโภคจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น