xs
xsm
sm
md
lg

เพาะพันธุ์ฉลามส่งกลับทะเล กู้วิกฤตระบบนิเวศชายฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิบูลย์ รักเสรี
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

“นักล่าแห่งท้องทะเล” เมื่อพูดถึงฉายาดังกล่าวแล้ว คงไม่แคล้วนึกถึง “ปลาฉลาม” ที่ภาพทรงจำของใครหลายๆ คนจะต้องนึกถึงความโหดร้าย และกลิ่นคาวเลือดที่คละคลุ้งบนท้องน้ำสีคราม ที่เห็นได้อย่างดาดดื่นตามภาพยนตร์ที่เข้ามาฉายในบ้านเรา และท่ามกลางภาพความน่ากลัวเหล่านั้น น้อยคนนักที่จะรู้ซึ้งถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ฉลามก็กำลังประสบปัญหาที่น่าวิตกเช่นกัน

คนทั่วไปมักมองว่า ฉลามเป็นผู้ล่าและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะมักมีข่าวที่ถูกตีแผ่เสมอว่า ฉลามกัด หรือทำร้ายมนุษย์ ถึงขั้นเลือดตกยางออก บางรายเสียอวัยวะ และบางรายก็ถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้ นายวิบูลย์ รักเสรี ผู้จัดการแผนกดูแลสัตว์น้ำของสยามโอเชียนเวิลด์ อธิบายว่า ปกติแล้วฉลามจะไม่ทำร้ายคน เพราะฉลามใช่ว่าจะดุร้ายไปเสียทุกสายพันธุ์ อย่างฉลามพันธุ์ปล้องอ้อย หรือฉลามกบ ก็เป็นฉลามพันธุ์เล็ก ซึ่งโตเต็มที่มีขนาดไม่เกิน 1.2-1.5 เมตร มีปากและตาเล็กๆ ไม่มีอันตราย ล่าเพียงปลาและสัตว์หน้าดินเท่านั้น ส่วนกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉลามกัดคนนั้น มองว่าเป็นเพราะอาการตกใจของฉลาม และเป็นสัญชาตญาณในการป้องกันตัวมากกว่า และหากมองในมุมกลับ ฉลามอาจมองว่า มนุษย์เรานี่แหละที่เป็นผู้ล่ามัน

จากรายงานที่ทราบมา ฉลามทุกสายพันธุ์ในน่านน้ำไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน กำลังลดจำนวนลงอย่างมาก สาเหตุสำคัญมาจากการล่าของมนุษย์ที่ต้องการจับไปทำเป็นอาหาร อย่างเมนูที่รู้จักกันดี ก็คือ “หูฉลาม” ขณะที่บางส่วนก็ล่าเพื่อเอาเนื้อ ทำให้ทุกวันนี้เกิดวิกฤตในทะเลไทย เพราะห่วงโซ่อาหารผิดปกติ นั่นคือเมื่อจำนวนฉลามลดลง สัตว์ที่มันล่าเป็นอาหารก็จะมีจำนวนมากขึ้น สมดุลของระบบนิเวศทางทะเลก็จะเสียไป” นายวิบูลย์ กล่าว

ท่ามกลางวิกฤตจำนวนฉลามในทะเลไทยลดลง วิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้วงจรของระบบนิเวศกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ คือ การเพาะพันธุ์ฉลามให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นายวิบูลย์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตนได้นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของฉลามปล้องอ้อยมาเพาะเลี้ยงในอควาเรียม จนกระทั่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จึงตัดสินใจจัดโครงการปล่อยฉลามพันธุ์ปล้องอ้อยขึ้น เนื่องในวันทะเลโลก (8 มิ.ย.ของทุกปี) ณ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง

นายวิบูลย์ อธิบายอีกว่า ก่อนนำฉลามมาปล่อย ต้องมีการศึกษาค่อนข้างมาก ทั้งสถานที่ที่นำไปปล่อย และความพร้อมของตัวฉลามเอง นั่นคือ เรานำฉลามมาจากที่ใดต้องนำกลับไปปล่อยในแหล่งนั้น เช่น เรานำฉลามมาจากฝั่งอันดามัน จะนำไปปล่อยฝั่งอ่าวไทยไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ และสถานที่ที่จะปล่อยต้องเหมาะสม คลื่นลมต้องสงบ พื้นที่เอื้ออำนวยต่อการอาศัยของฉลาม ขณะที่ตัวฉลามเองต้องแข็งแรง ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถหาอาหารกินเองได้ เพราะระหว่างอยู่ในอควาเรียมปกติจะให้แต่อาหารตาย จึงต้องมีการฝึกให้รู้จักหาอาหารเป็น เมื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติจะได้ไม่อดตาย

ส่วนเรื่องของการขนย้าย นายวิบูลย์ อธิบายว่า กระบวนการขนฉลามขึ้นเครื่องบินมาปล่อยที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ให้ปลอดภัยนั้น ต้องให้ฉลามอดอาหารและเพิ่มความเย็นในลังที่ขนย้ายให้มากกว่าปกติ เพื่อไม่ให้ฉลามขับของเสียเพราะเมื่อฉลามเกิดความเครียดจะปล่อยของเสียออกมา ซึ่งน้ำที่ใช้ในการขนย้ายมีจำกัด และเมื่อขนย้ายมาถึงจะต้องรีบเพิ่มอุณหภูมิให้ฉลาม แล้วจับลงกระชังเพื่อปรับอุณหภูมิและปรับน้ำซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำมาจากทะเลที่ชายหาด เมื่อฉลามแข็งแรงก็จะปล่อยออกสู่ทะเล

นายวิบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า โครงการปล่อยปลาฉลามดังกล่าว เราได้เปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสที่ไม่เคยขึ้นเครื่องบิน จำนวน 20 คน มาร่วมโครงการกับเราด้วย เพื่อปลุกจิตสำนึกเยาวชนให้รักสิ่งแวดล้อม รักสัตว์ และธรรมชาติ ให้ได้เรียนรู้วิธีการดูแลฉลาม ให้เห็นวงจรชีวิตของฉลาม รวมถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น กระทั่งการเพาะพันธุ์และการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

สำหรับมุมมองต่อการจัดโครงการปล่อยฉลาม น้องแจม ธีรวัฒน์ ลอยเมฆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดปทุมวนาราม หนึ่งในเด็ก 20 คนที่มาร่วมโครงการ บอกถึงความรู้สึกว่า ดีใจที่ได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก และยังมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษานอกห้องเรียนที่สยามโอเชียนเวิลด์ ทำให้ได้รู้จักปลาหลายชนิด เรียนรู้เรื่องสัตว์น้ำชนิดต่างๆ อย่างปลาฉลามปล้องอ้อยที่นำมาปล่อยก็รู้ว่าเป็นฉลามขนาดเล็กที่ไม่ทำร้ายคน

การมาร่วมกิจกรรมปล่อยปลาฉลาม ทำให้รู้สึกรักทะเล และรักสัตว์น้ำมากขึ้น คิดว่าต้องไม่ทิ้งขยะลงทะเล เพราะพวกสัตว์ทะเลจะคิดว่าเป็นอาหาร พอกินไปก็อาจตายได้ พอปลาตายระบบนิเวศก็เสีย พวกเราต้องช่วยกันขยายเพาะพันธุ์ปลา ก็เลยมาปล่อยปลาฉลามเพื่อให้จำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ มีทำการแสดงร่วมกัน เต้นเพลงเร็ว เพลงช้า เพลงพระราชนิพนธ์ ได้ทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆ ได้ความสามัคคี” น้องแจม กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ยืนยันว่า การปล่อยฉลามกลับคืนสู่ทะเลทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น และยังเป็นประโยชน์กับประชาชนที่ทำประมงชายฝั่ง เพราะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ทางอุทยานก็จะมีมาตรการในการจับปลา เพื่อควบคุมไม่ให้มีการล่าสัตว์น้ำมากเกินไป รวมถึงควบคุมเครื่องมือการจับปลาด้วย

การเพาะพันธุ์ปลาเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ อาจไม่สามารถทำให้ทะเลกลับมาสมดุลได้ในทันที เพราะปริมาณการล่าสัตว์น้ำและขีดจำกัดของธรรมชาติยังไม่สมดุล แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการรักษาระบบนิเวศ ซึ่งหัวใจสำคัญของการรักษาระบบนิเวศ คือ ต้องให้ราษฎรในท้องถิ่นสามารถใช้ชีวิตกับธรรมชาติในท้องทะเลได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข” นายณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
พาเด็กๆ โรงเรียนวัดปทุมวนารามไปเรียนรู้วงจรชีวิตของฉลามก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ทะเล
ลังขนปลาฉลามขึ้นเครื่องบิน
นำปลาฉลามลงกระชัง เพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ทะเล
ฉลามพันธุ์ปล้องอ้อย หรือฉลามกบ
ปล่อยฉลามกลับทะเลคืนสมดุลให้ธรรมชาติ
กิจกรรมจาก นร.โรงเรียนวัดปทุมวนาราม
กำลังโหลดความคิดเห็น