ม.ร.เริ่มใช้ระบบปรับเกรดใหม่ เป็น A B C D ปีการศึกษา 55 เผยยอด นศ.ใหม่ลดลงกว่าหมื่นคน คาดในเทอม 2 จะลดลงอีก 60%
ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2555 ยอดนักศึกษาใหม่ที่สมัครเรียนใน ม.ร.มีจำนวน 57,000 กว่าคน ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2554 ซึ่งมีประมาณ 70,000 กว่าคน โดยลดลงประมาณหมื่นกว่าคน และในภาคการศึกษาที่ 2 อาจจะลดลงอีกถึง 60% และแนวโน้มปีการศึกษาต่อๆ ไปก็อาจจะลดลงอีก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการจำนวนนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาลดน้อยลง จากภาวะเจริญพันธุ์ของคนไทยลดลง นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะจำนวนสถาบันอุดมศึกษามีการเปิดสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ภาวะดังกล่าวต้องยอมรับว่าทำให้รายได้ของ ม.ร.ลดลง อย่างไรก็ตาม ม.ร.ก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มรายได้จากการให้บริการวิชาการด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ตนตั้งใจจะฟื้นระบบอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลงได้ระดับหนึ่ง คือช่วยทำให้นักศึกษายังคงอยู่กับเรา ไม่หายไปในเทอม 2 โดยจะจัดอาจารย์รับผิดชอบให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาเป็นกลุ่มๆ แยกตามคณะ ทำให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจ อบอุ่น ไม่หว้าเหว่ และอยากมาเรียนมากขึ้น ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาจะสร้างความใกล้ชิด ลดช่องว่างระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา
อธิการ ม.ร.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การจัดการเรียรการสอนที่วิทยาเขตบางนามีนโยบายที่จะเพิ่มการใช้งานในพื้นที่มากขึ้น จากเดิมที่จัดเรียนการสอนเฉพาะปี 1 ต่อไปจะมีวิชาของปี 2 ด้วยเพื่อใช้อาคารเรียน ห้องเรียน อุปการณ์โสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ อย่างคุ้มค่า สำหรับนโยบายการปรับเกรดเป็น A B C D นั้นได้เตรียมความพร้อมสำหรับระบบเกรดใหม่โดยจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2555 จะทำให้เกรดมีความถี่มากขึ้นและให้ความยุติธรรมกับนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีมาตรการประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดย ม.ร.จะทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงพลังงานในการเป็นมหาวิทยาลัยนำร่องในด้านการประหยัดพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานจะมาปรับเปลี่ยนหลอดไฟในม.ร.ให้เป็นหลอดประหยัดพลังงานทั้งหมด คาดว่า จะประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 40% ขณะเดียวกันได้เริ่มทยอยติดมิเตอร์ในหน่วยงานต่างๆ เพื่อรู้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อการบริหารจัดการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด
“ด้านการวิจัยเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเร่งรัดให้มีการทำวิจัยมากขึ้น ที่ผ่านมา อาจารย์ทำวิจัยน้อยมาก อาจเป็นเพราะภาระการสอนมาก ในอนาคตมหาวิทยาลัยจะเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น และพิจารณาให้ผลตอบแทนสำหรับผู้ทำวิจัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามใปีงบประมาณ 2554 มหาวิทยาลัยทุกแห่งถูกตัดงบประมาณด้านการวิจัยโดยรัฐบาลจัดสรรให้เฉพาะโครงการต่อเนื่อง เป็นปัญหาหนึ่งที่อยากให้รัฐบาลทบทวน ทั้งที่การวิจัยมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว