xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งศูนย์วิทยุ 4 จุดเฝ้าระวังเด็กตีกัน เปิดสายด่วน 1156 - ค้านปิด ร.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้มข่าว
อาชีวะ ตั้งศูนย์วิทยุ 4 จุดเฝ้าระวังเหตุเด็กวิวาท พร้อมเปิดสายด่วน 1156 และโทรศัพท์ 0-2281-5555 รับแจ้งเหตุร้องเรียน ทุ่มเงินจ้างเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละศูนย์ให้เป็นกำลังเสริมในการลงพื้นที่ “ชัยพฤกษ์” ลั่นในระยะเวลา 2 เดือนที่ยังเปิดเทอมจะดำเนินการเข้มข้น

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานักเรียนวิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองและโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ก่อเหตุทะเลาะวิวาท จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ว่า เมื่อช่วงเช้าตนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ซึ่งพบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามปกติมีการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต ซึ่งทราบว่าทางวิทยาลัยสั่งปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ยังได้รับรายงานเจ้าหน้าที่ว่าในช่วงเช้าวันนี้ (15 มิ.ย.) มีนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกสมุทรปราการ รวมกลุ่มกันประมาณ 20 คนพร้อมอาวุธครบมือที่บริเวณป้ายรถเมล์ และกำลังจะก่อเหตุแต่ทางเจ้าหน้าที่สกัดไว้ได้ทันจึงไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดี

สำหรับกรณีที่ในช่วงเย็นของวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคดุสิต ก่อเหตุวิวาทกับนักเรียนโรงเรียนไทยอาชีวะ ที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น ขณะนี้ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ยังไม่มีการปิดการเรียนการสอน แต่ทางวิทยาลัยได้แก้ปัญหาโดยประสานผู้ปกครองของเด็กกลุ่มเสี่ยงมารับส่งนักเรียนด้วยตนเอง

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาในภาพรวมนั้น สอศ.ได้ตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาท โดยนำระบบวิทยุสื่อสารมาใช้เป็นหลักในการติดต่อประสานแจ้งเหตุระหว่างเจ้าหน้าที่ โดยมี สอศ.เป็นศูนย์อำนวยการกลางและกระจายศูนย์วิทยุสื่อสารออกไป 4 จุดใหญ่ ครอบคลุมกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ 1.ศูนย์จตุจักร ดูแลโดยวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี 2.ศูนย์ชัยสมรภูมิ ดูแลโดยวิทยาลัยเทคนิคดุสิต 3.ศูนย์สวนหลวง ร.9 ดูแลโดยวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกสมุทรปราการ และ4.ศูนย์ธนบุรี ดูแลวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม พร้อมกันนี้ ได้เปิดสายด่วนรับแจ้งเหตุหมายเลข 1156 หรือโทรศัพท์ 0-2281-5555 ซึ่งจะทำงานร่วมกับศูนย์เสมารักษ์ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการรับแจ้งเหตุร้ายและประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากนั้น สอศ.ยังจัดสรรงบประมาณในการจ้างเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ๆ ละ 5 คนเพื่อช่วยเสริมกำลังของอาจารย์ของวิทยาลัย ในการออกตรวจตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งร้านค้า ป้ายรถเมล์ จุดรวมตัว และบริเวณรอบมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ภายในวิทยาลัยจะมีการตั้งเครือข่ายนักเรียนเพื่อดูแลและรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ภายในวิทยาลัย รวมทั้งประสานกับผู้ปกครองเพื่อขอความร่วมมือช่วยดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด และหากเป็นไปได้จะประสานให้ผู้ปกครองมาช่วยรับนักเรียนกลับบ้านด้วย โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมที่เหลือระยะเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง สอศ.มีเป้าหมายจะดำเนินการอย่างเข้มข้น

“ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ระบบการรายงานข้อมูลเมื่อเกิดเหตุยังไม่ดี ดังนั้น สอศ.จึงคิดว่าหากจัดระบบการประสานงานในรูปแบบเครือข่ายน่าจะทำให้เกิดการรายงานข้อมูลได้อย่างทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ พบว่า ผู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด คือ ผู้ปกครองที่จะต้องเข้ามาช่วยดูแลลูกร่วมกับวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมามาตรการการปิดรับนักเรียนในปีการศึกษาถัดมาเคยใช้มาแล้วโดยเฉพาะสถานศึกษาเอกชน ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว แต่เมื่อปิดไปแล้วเด็กจะไปรวมตัวกันเรียนที่อื่นอีก จึงมองว่าอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกทางนัก เพราะหน้าที่ของเราคือให้โอกาสทางการศึกษา หากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ผู้ปกครองจะไม่อยากส่งลูกมาเรียนในสายอาชีพ ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น.ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดประชุมวิทยาลัยอาชีวศึกษาสังกัด สอศ.และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในกลุ่มเขตจตุจักร-ดอนเมือเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทในเขต มีนายเฉลิมชัย วาสะศิริ หัวหน้ากลุ่มกิจการนักศึกษา กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาเอกชน สช. พร้อมด้วย ผู้บริหารวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยเทคนิคปัญจวิทยา วิทยาลัยเทคนิคสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) โรงเรียนไทยบริหารธุรกิจ และโรงเรียนเซนต์จอห์นโปลีเทคนิค และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ตัวแทนศูนย์เสมารักษ์ดอนเมืองร่วมประชุมด้วย

นายณรงค์ สรรพศรี ผู้อำนวยวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การประชุมดังกล่าว ได้นัดหมายกันไว้ล่วงหน้าก่อนจะเกิดเหตุนักเรียนโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ถูกยิงดับ และปกติโรงเรียนในกลุ่มจะมีการนัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กตีกันเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ ได้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่เข้ามาประสานกับโรงเรียนในการดูแลพื้นที่ ดูแลการเดินทางของนักเรียนโดยเฉพาะช่วงเลิกเรียนขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเสริมกำลังในจุดที่นักเรียนจากหลายโรงเรียนมาเจอกัน ซึ่งมีโอกาสจะปะทะกันสูง โดยจุดล่อแหลมที่สำคัญ คือ ปากซอยแจ้งวัฒนะ 6 ตลาดสะพานใหม่ อู่รถเมล์บางเขน และบริเวณอนุสรณ์สถานปากทางเข้าลำลูกกา ขณะเดียวกันขอความร่วมมือให้แต่ละวิทยาลัยออกจุดตรวจตราร่วมกันด้วย

ด้าน นายวีระเดช เหลืองหิรัญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับมาตรการปิดโรงเรียน เพราะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา ต่อให้มีการปิดโรงเรียนถาวรเด็กก็ย้ายไปเรียนโรงเรียนอื่น และก่อเหตุซ้ำได้อีก ขณะเดียวกัน เหตุทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นเพราะรุ่นพี่เข้ามามีอิทธิพล ชอบมาอยู่รอบๆ สถาบัน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ปกครอง
กำลังโหลดความคิดเห็น