xs
xsm
sm
md
lg

“อุดร เห็นชอบดี” โชว์วิสัยทัศน์นำ “เทคนิคมาบตาพุด” ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน/คอลัมน์ “ส่องฅนคุณภาพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

เป้าหมายเพื่อจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างสวยงาม ทำให้ขณะนี้ภาคการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของประเทศต่างเร่งยกเครื่องตัวเองอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องของภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารในกลุ่มประชาคมอาเซียนนั้น เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ภาคการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาในสายวิชาชีพ ต่างเร่งพัฒนาจริงจัง

นายอุดร เห็นชอบดี ผอ.วท.มาบตาพุด
วิทยาลัยเทคนิค (วท.) มาบตาพุด สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นสถานศึกษาหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องภาษาอังกฤษ โดย นายอุดร เห็นชอบดี ผู้อำนวยการ วท.มาบตาพุด เปิดเผยถึงนโยบายส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษา ว่า เนื่องจาก วท.มาบตาพุด เป็น 1 ใน 3 ของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ที่เปิดสอนในสาขาปิโตรเคมี ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยร่วมมือจากสถานประกอบการ 5 แห่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในการพัฒนานักศึกษาภายใต้โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วท.มาบตาพุด หรือ (V-ChEPC) เป้าหมายเพื่อพัฒนาช่างเทคนิคในสาขาวิศวกรรมเคมีให้มีความรู้ความสามารถในสายวิชาชีพ รวมถึงผลิตช่างเทคนิคที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ มีความรู้พื้นฐานด้านอุตสาหกรรม มีทักษะการคิดและแก้ปัญหา สามารถสื่อสารและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและปิโตรเลียมในระยะยาว ทั้งยังเป็นวิทยาลัยต้นแบบในการพัฒนาผู้บริหาร ครู และนักศึกษาในด้านดังกล่าวด้วย โดยได้เริ่มพัฒนามาแต่ปี 2550 จนกระทั่งถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 โดย วท.มาบตาพุดได้รับการสนับสนุนงบประมาณเฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาทรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีละ 35 คน
นักศึกษาสาขาปิโตรเคมี นำเสนอกระบวนการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ การเรียนการสอนของวิทยาลัยนั้น จะเน้นจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตคนในสายปฏิบัติการภาคสนาม เพราะการกำลังคนในสายงานลักษณะนี้ยังมีการผลิตน้อย และเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 แล้วเราไม่สามารถคำนึงถึงแต่เรื่องคุณภาพฝีมือแรงงานเพียงอย่างเดียวได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องการสื่อสาร และด้วยเหตุผลที่ สาขาปิโตรเคมีนั้นเป็นสาขาที่สำคัญเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน และผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับหัวกะทิ มีความฉลาด และความเป็นเลิศกว่าเด็กในสาขาอื่นๆ เพราะฉะนั้น กลุ่มนักศึกษาที่เรียนสาขาปิโตรเคมี จึงเป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายแรกที่ วท.มาบตาพุด วางแผนพัฒนาส่งเสริมให้เกิดการใช้ภาษาอังกฤษอย่างเข้มแข็ง

“ผมวางเป้าหมายไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา 2555 นักศึกษาสาขาปิโตรเคมีจะต้องฟัง พูด อ่าน และเขียนได้ ซึ่งความจริงแล้วเราไม่ได้เพิ่งมาเริ่มส่งเสริมเรื่องภาษากับนักศึกษาในปีนี้ แต่เฉพาะสาขาปิโตรเคมีนี้เราเริ่มสนับสนุนการสอนภาษาอังกฤษมาแต่ปีการศึกษา 2554 โดยได้จ้างครูต่างชาติมา 1 คน เพื่อคอยประกบกับนักศึกษาตลอดเวลาทั้งในการเรียนหรือการทำกิจกรรม ซึ่งค่อนข้างได้ผลดีเนื่องจากนักศึกษาสาขาปิโตรเคมีนั้นจะต้องเรียนแบบกินนอนอยู่ที่วิทยาลัยทำให้มีเวลาฝึกฝนได้อย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้นักศึกษาสาขาดังกล่าวนี้สามารถทำเอกสารส่งงานด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงสามารถพรีเซ็นต์โครงงานเป็นภาษาอังกฤษได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ”นายอุดร กล่าว
นำเสนอโครงงานต่อคณะผู้บริหารจาก สอศ.
ผอ.วท.มาบตาพุด ยังกล่าวด้วยว่า จากความสำเร็จขั้นต้นของการพัฒนานักศึกษา ปวส.ในสาขาปิโตรเคมี ให้มีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษได้แล้ว ดังนั้น ในปีการศึกษา 2555 นี้ วิทยาลัยจะขยายผลการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไปสู่ผู้เรียนในสาขาอื่นๆ และรวมถึงครูและอาจารย์ของวิทยาลัย โดยได้วางแผนให้ในการเรียนการสอนทุกสาขาวิชาที่ วท.มาบตาพุดเปิดสอน จะต้องสอนสอดแทรกเรื่องของภาษาอังกฤษเข้าในระหว่างการเรียนของนักศึกษาทุกวิชาด้วย

“ในระยะแรกนั้น จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และเริ่มจากการให้นักศึกษาทำโครงงานมานำส่งและนำเสนอเป็นภาษาไทยต่อหน้าอาจารย์และเพื่อนๆ จากนั้นจะมีคณะกรรมการทำการคัดเลือกโครงงานต่างของนักศึกษาด้วย หากโครงงานใดได้รับการคัดเลือกนักศึกษาจะต้องนำโครงงานดังกล่าวไปเขียนให้เป็นภาษาอังกฤษและกลับมานำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ต่ออาจารย์และนักศึกษาอีกครั้งโดยจะมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษทั้งการเขียนและการพูด ซึ่งเราจะเน้นพัฒนาตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน” นายอุดร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น