xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริราช” สุดเจ๋งผ่าตัดช่วยผู้ป่วยเบาหวานไม่ต้องถูกตัดเท้าสำเร็จครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศิริราช” อวดผลงานนวัตกรรมผ่าตัดระบบไหลเวียนเลือดในแผลเท้าของผู้ป่วยเบาหวานสำเร็จครั้งแรกของโลก หลังค้นพบมานาน 10 ปี เผยได้ถ่ายทอดสู่นานาชาติแล้ว

วันนี้ (30 พ.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานในการแถลงข่าว “ครั้งแรกของโลก นวัตกรรมศิริราช ผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานป้องกันการถูกตัดขา” โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ป่วยหลายรายเผชิญปัญหาแผลขาดเลือดที่เท้าจนต้องถูกตัดขา ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงคิดค้นนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ป้องกันการถูกตัดขาขึ้น ซึ่งการผ่าตัดนี้นับเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถช่วยให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีแผลขาดเลือดรอดพ้นจากความทุกข์ทรมานและความพิการช่วยให้พัฒนาคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น

ด้าน ศ.นพ.ประมุข มุทิรางกูร หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่า การเกิดแผลจากเบาหวานมาจากสาเหตุที่เลือดหล่อเลี้ยงไม่ได้โดยภาวะขาดเลือดหล่อเลี้ยงจะเกิดขึ้นทั่วร่างกาย ทั้งสมอง หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะขา ซึ่งบางครั้งแพทย์พบว่า มีไขมัน มีแคลเซียมเคลือบอยู่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน ไม่สามารถหมุนเวียนไปหล่อเลี้ยงได้ แพทย์จึงต้องรักษาระบบหลอดเลือดให้ดีขึ้น โดยในอดีตการรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วย แพทย์จะใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือดแดง หรือบายพาส รวมถึงการถ่างขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน แต่หากหลอดเลือดแดงของขาที่อยู่ส่วนปลายต่อเกิดอุดตัน มีสภาพไม่ดีพอ การรักษาทั้ง 2 วิธีดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องทำผู้ป่วยโรคเบาหวานจะสูญเสียขาในที่สุด ด้วยเหตุนี้นวัตกรรมกรมรที่คิดค้นใหม่ จึงเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีข้าวต้นได้

ศ.นพ.ประมุข กล่าวอีกว่า หลักการในการรักษาด้วยนวัตกรรม ผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้า สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้หลอดเลือดเทียมเป็นข้อเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงที่ต้นทางของขาซึ่งไม่มีภาวะเลือดอุดตัน เช่น ต้นขา ต่อเข้า กับหลอดเลือดดำที่ปลายเท้า ซึ่งเลือดไหลเวียนไม่ถึง เพื่อเสริมทางให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้น ซึ่งจากการทดสอบระบบสูบฉีดเลือดในผู้ป่วยก็พบว่า มีภาวการณ์หล่อเลี่ยงที่ดีและเป็นปกติ

สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว ศิริราชเริ่มทำการผ่าตัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบันโดยมีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้วประมาณ 40 ราย โดยเมื่อพิสูจน์แล้วว่าวิธีการดังกล่าวได้ผลและเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาแผลที่เท้า ทางทีมที่ศึกษาก็ได้นำเสนอผลงานการผ่าตัดนี้ไปยังกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2552 พ.ศ. 2553 และปี พ.ศ. 2554 รวมทั้งในปี พ.ศ.2555 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผลงานการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมและได้รับการตีพิมพ์ใน “Vascular” ซึ่งเป็นวารสารทางการของสมาคมศัลยแพทย์หลอดเลือดนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ระดับโลก แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ต่างประเทศนั้นมีระบบคัดกรองเบาหวานที่ดีกว่า เมื่อเจอในระยะต้นก็จะสามารถรักษาได้ ซึ่งมีส่วนน้อยที่เกิดแผลลุลามจนกระทั่งต้องตัดขา” ศ.นพ.ประมุข กล่าว

ศ.นพ.ประมุข กล่าวเพิ่มว่า ทั้งนี้ สำหรับจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่เข้ารับบริการใน รพ.ศิริราช นั้นมีประมาณปีละ 200 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเบาหวาน 60% โดยมีผู้ป่วยทีเป็นแผลที่เท้าเข้ารับบริการผ่าตัดรักษาแผล เฉลี่ยปีละ 1-2 ราย ซึ่งประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวจะสำเร็จประมาณ 73% โดยในผู้ป่วยรายแรกที่รับการผ่าตัดในวัย 90 ปี พบว่า สามารถมีชีวิตโดยไม่ต้องสูญเสียขาไปนานกว่า 4 ปี จึงนับว่าเป็นวิธีทางเลือกที่มีประสิทธิภาพดีและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ส่วนจำนวนที่เหลือที่ไม่สำเร็จส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการติดเชื้อมาก่อน และมีอาการแทรกซ้อรน ทำให้ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยนวัตกรรมนี้ ก่อนทำการผ่าตัดแพทย์ต้องมีการประเมินสภาพผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยมีสภาพหัวใจและปอดแข็งแรงและมีสภาพหลอดเลือดดำบริเวณข้อเท้าที่เหมาะสม สำหรับการผ่าตัดวิธีใหม่นี้ จะมีหลักการโดยใช้หลอดเลือดดำบริเวณข้อเท้าเป็นทางนำเลือดแดงจากหลอดเลือดแดงบริเวณต้นขาเข้าไปในระบบหลอดเลือดดำของเท้าโดยตรง วิธีนี้จะช่วยให้ปริมาณอาหารและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเท้าที่ขาดเลือดได้อย่างเพียงพอ จนแผลเบาหวานที่ขาดเลือดหายเป็นปกติ และผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง โดยการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และนอนพักที่โรงพยาบาลประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่ถ้าแผลผ่าตัดใหญ่ ก็ต้องพักฟื้น 3-4 เดือน

อนึ่ง สำหรับนวัตกรรมการรักษานี้ ทางศิริราชได้ถ่ายทอดสู่นักเรียนแพทย์ในสังกัด เพื่อต่อยอดวิธีการรักษาให้ดียิ่งขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น