xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เสนอแรงงานหญิงพกถุงยาง แก้ติดเชื้อ HIV-วัณโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคช็อก! สถิติคนไทยตายเพราะวัณโรค 1.1 หมื่นราย เผย ผู้ป่วยเอดส์ติดเชื้อง่าย ทำให้วัณโรคระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีแรงงานเคลื่อนย้าย และแรงงานต่างด้าว รมว.สธ.สั่งแก้ปัญหาด่วน แนะแรงงานหญิงควรพกถุงยาง เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ตั้งเป้า 50 สถานประกอบการ นำร่อง กทม.-นนทบุรี
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (18 พ.ค.) ที่กรมควบคุมโรค นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้ ดร.นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และบริหารจัดการด้านวัณโรคและเอดส์ ในสถานประกอบกิจการ ดำเนินงานโดยมูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมบูรณ์ วัชโรทัย และเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก

ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินงานควบคุมป้องกันและลดวัณโรคให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคในประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่ทำให้ผู้ป่วยเอดส์มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนทำให้ป่วยเป็นวัณโรคมากขึ้น ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศของโลกที่ยังมีปัญหาวัณโรครุนแรง คาดว่า มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาณปีละ 11,000 ราย และองค์กรอนามัยโลกได้ประมาณการว่าประชากรไทย ที่คาดว่า มีเชื้อวัณโรคมาแอบแฝงอยู่ที่ปอด ประมาณร้อยละ 30 หรือ 20 ล้านคน และกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 94,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 อยู่ในระยะแพร่เชื้อและร้อยละ 16 ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คาดว่า มียอดสะสมรวมกว่า 1,100,000 ราย และยังคงมีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 ราย ร้อยละ 84 ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยวัณโรคและเอดส์ในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เกิดจากความยากจน แรงงานเคลื่อนย้าย แรงงานต่างชาติ แรงงานในสถานประกอบกิจการ สภาพที่แออัดภายในเรือนจำที่เอื้อต่อการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค และผลกระทบจากการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราตายสูง และมีปัญหาเชื้อดื้อยาวัณโรคเพิ่มขึ้น

ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัณโรคและเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน การดำเนินงานตามแนวปฏิบัติตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่อมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) การส่งเสริมการตลาดต่างประเทศจากการได้รับรองมาตรฐานการบริหารจัดการด้านเอดส์ ASO-T THAILAND และเป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติส่วนรวม ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล ความรู้ที่ทันสมัยในเรื่องวัณโรคและเอดส์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจน โดยนำร่องให้กับผู้บริหารจากสถานประกอบกิจการภายในกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 50 แห่ง

ทั้งนี้ สาระสำคัญในการประชุม ได้แก่ การอภิปราย เรื่อง มาตรฐานการบริหารจัดการเรื่องวัณโรคและเอดส์ (ASO-T Thailand) แนวทางการดำเนินงานและประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการได้รับ โดย ดร.แอนโทนี่ ประมวญรัตน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ คุณประยูร บุญสถิต ผู้อำนวยการบริหารบริษัท โปรดักส์ ดีเวลลอปเม้นท์ เมนูแฟคเจอร์ริง จำกัด (บริษัทได้รับมาตรฐาน ASO-T Thailand ระดับ PLATINUM ยอดเยี่ยมของประเทศไทยปี 2551) นายอนันตวิทย์ วัชโรทัย ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมบูรณ์ วัชโรทัย และผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อวางแผนการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำหรับวัณโรค สามารถติดต่อโดยผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากปิดจมูก และผู้อยู่ใกล้หายใจที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิด เช่น ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ไอแห้งๆ มีเสมหะ น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก ไข้ต่ำๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาศัย หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด ผู้มีประวัติต้องขังในเรือนจำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต เป็นต้น ให้สงสัยว่า เป็นวัณโรคและควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อในสถานบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ใช้เวลาในการรักษา 6-8 เดือน โดยกินยาครบทุกเม็ด ครบทุกมื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยา ไม่ควรหยุดยาเอง และควรมีพี่เลี้ยงดูแลการกินยาจนครบการรักษา หากมีอาการแพ้ยารีบปรึกษาแพทย์ทันที

ส่วนปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี ขอให้ทุกคนหันมาป้องกันตนเอง และรับผิดชอบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกกลุ่ม พร้อมแนะนำแรงงานหญิงพกถุงยางอนามัยติดตัวเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยจากโรคเอดส์ถ้าต้องการคำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลและเครือข่ายบริการที่เป็นมิตรใกล้บ้าน ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี(เอดส์) ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โอกาสป่วยเป็นวัณโรครวดเร็วและรุนแรงมากกว่าผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น